ผู้รายงาน : นายนิรุต เพ็ชรกำแหง ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ โรงเรียนชุมพรปัญญานุกูล อำเภอปะทิว
จังหวัดชุมพร
การรายงานครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินผลงานการดำเนินงานโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนชุมพรปัญญานุกูล อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ใน 8 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมสวดมนต์ตอนเช้าหลังเคารพธงชาติ กิจกรรมท่องค่านิยม 12 ประการ ตอนเช้าหลังเคารพธงชาติ กิจกรรมนั่งสมาธิ เจริญสติภาวนาคาบสุดท้ายทุกวันศุกร์ กิจกรรมแต่งกายชุดขาวและเข้าร่วมทำบุญตักบาตรกับชุมชนในทุกวันพระ กิจกรรมร่วมพิธีกรรมในวันสำคัญต่างในพุทธศาสนา ๆ ในพุทธศาสนา เช่นการเวียนเทียนในวันสำคัญต่าง ๆ และแห่เทียนพรรษากิจกรรมเดินแถวชิดขวา ถอดรองเท้าหน้าห้องสวยงามและกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย สร้างวินัยนักเรียนโดยยึดกรอบ คุณธรรม 8 ประการ ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี 8 ด้านคือ ความขยัน ความประหยัด ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสุภาพ ความสะอาด ความสามัคคี และความมีน้ำใจ ตลอดจนศึกษาแนวทางพัฒนาการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ ตามองค์ประกอบข้างต้น ประชากรที่ใช้ในการศึกษาปีการศึกษา 2564 ทุกกลุ่ม ได้แก่ ครูโรงเรียนชุมพรปัญญานุกูล จังหวัดชุมพร ปีการศึกษา 2564 จำนวน 57 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนชุมพรปัญญานุกูล ปีการศึกษา 2564 จำนวน 9 คน ผู้ปกครองนักเรียน ชั้น ม.1 ม.6 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 230 คน รวมทั้งสิ้น 296 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย แบบสอบถามความคิดเห็นและเสนอแนวทางพัฒนาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนตามความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 30 ข้อ เป็นปลายปิด 22 ข้อ ปลายเปิด 8 ข้อ แบบสอบถามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ตามความคิดเห็นของผู้ปกครอง จำนวน 30 ข้อ แบบสอบถามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ตามความคิดเห็นของนักเรียน จำนวน 45 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ คะแนนเฉลี่ย ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการรายงาน พบว่า
1. ผลการดำเนินงานการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของนักเรียน ปรากฏผลดังนี้
1.1 การดำเนินงานโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมสอบถามความคิดเห็น และเสนอแนวทางพัฒนาการดำเนินการโครงการส่งเสริมเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ตามความคิดเห็นของ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดและมาก เรียงตามลำดับคะแนนเฉลี่ย 3 อันดับ คือ โรงเรียนมีการกำหนดผู้รับผิดชอบและปฏิทินการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน รองลงมา คือ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และผู้บริหารสถานศึกษามีการนิเทศติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ
1.2 การประพฤติปฏิบัติที่แสดงความมีคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ตามความคิดเห็นของผู้ปกครอง โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมาก ทุกด้าน ยกเว้นด้านความประหยัด มีการประพฤติปฏิบัติในระดับมากที่สุด เรียงตามลำดับคะแนนเฉลี่ย 3 อันดับ คือ ความประหยัด รองลงมา คือความสะอาด และ ความมีน้ำใจ ตามลำดับ
1.3 การประพฤติปฏิบัติที่แสดงความมีคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ตามความคิดเห็นของนักเรียนเอง โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดและมาก เรียงตามลำดับคะแนนเฉลี่ย 3 อันดับ คือ ความมีน้ำใจ รองลงมา คือ ความมีวินัย และความสามัคคี ตามลำดับ
2. แนวทางการพัฒนาการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ตามข้อเสนอของ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา มีดังนี้
2.1 ด้านความขยัน ได้แก่ นักเรียนตั้งใจเรียนในชั่วโมงและสอบถามครูเมื่อไม่เข้าใจเนื้อหา รองลงมา คือ นักเรียนตั้งใจปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จตามกำหนดเวลา และนักเรียนชอบอ่านหนังสือ ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ตามลำดับ
2.2 ด้านความประหยัด ได้แก่ นักเรียนนำเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายมาเก็บออม รองลงมาคือ นักเรียนปิดไฟฟ้า น้ำประปาพัดลมเมื่อเลิกใช้ทุกครั้ง และนักเรียนใช้สิ่งของ อุปกรณ์การเรียนอย่างประหยัด และคุ้มค่าตามลำดับ
2.3 ด้านความซื่อสัตย์ ได้แก่ นักเรียนเก็บของได้นำส่งคุณครู เพื่อประกาศหาเจ้าของทุกครั้ง รองลงมาคือ นักเรียนปฏิบัติตนดี เช่น พูดดี ทำดี และประพฤติดีทั้งต่อหน้าและลับหลังคุณครูอย่างสม่ำเสมอ และในการสอบของนักเรียนแม้คุณครูจะเผลอนักเรียนก็ไม่ทุจริตในการสอบ ตามลำดับ
2.4 ด้านความมีวินัย ได้แก่ นักเรียนทิ้งเศษกระดาษหรือขยะลงภาชนะรองรับเท่านั้น รองลงมาคือ นักเรียนเป็นผู้เคารพ กฎระเบียบวินัยข้อบังคับของสังคม และนักเรียนสามารถส่งงานคุณครูได้ทันและตรงต่อเวลาที่กำหนด ตามลำดับ
2.5 ด้านความสุภาพ ได้แก่ นักเรียนไม่แสดงความก้าวร้าว ข่มขู่ผู้อื่นทั้งโดยคำพูดและการกระทำ รองลงมาคือ นักเรียนมีความอ่อนน้อมถ่อมตนให้ความเคารพผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมอ และนักเรียนแต่งกายสุภาพ เหมาะสมกับกาลเทศะและสถานที่ ตามลำดับ
2.6 ด้านความสะอาด ได้แก่ หลังจากใช้ห้องน้ำแล้วนักเรียนราดน้ำทุกครั้ง รองลงมาคือ นักเรียนดูแล รักษาความสะอาดของอาคารเรียนห้องเรียนให้สะอาดอยู่เสมอ และนักเรียนแบ่งเบาภาระผู้ปกครองโดยทำความสะอาดบ้านและบริเวณบ้านด้วยความเต็มใจ ตามลำดับ
2.7 ด้านความสามัคคี ได้แก่ นักเรียนยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและข้อเสนอแนะของหมู่คณะ รองลงมาคือ นักเรียนยอมรับผลการตัดสินจากเสียงข้างมาก และนักเรียนรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ตามลำดับ
2.8 ด้านความมีน้ำใจ ได้แก่ นักเรียนช่วยเหลือการพัฒนาโรงเรียนและสถานที่ที่ใช้ส่วนรวมด้วยความเต็มใจ รองลงมาคือ นักเรียนชอบช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนตามกำลังของตน และนักเรียนยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนโดยไม่หวังผลตอบแทน ตามลำดับ