เรื่อง การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPP Model) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
ผู้วิจัย นายรังสิรัตน์ โกสัยยะ รองผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๑ จังหวัดยะลา
หน่วยงาน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๑ จังหวัดยะลา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
ปีที่รายงาน 2564
การวิจัยเรื่อง การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPP Model) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา ในภาพรวมและจำแนกรายด้าน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การประเมินบริบทหรือสภาวะแวดล้อม (2) การประเมินปัจจัยหรือทรัพยากร (3) การประเมินกระบวนการ และ (3) การประเมินผลผลิต และ 2) เพื่อประเมินความพึงพอใจของครูและนักเรียนที่มีต่อการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา วิธีการดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา ปีการศึกษา 2564 จำนวน 77 คน และนักเรียน จำนวน 631 คน รวมทั้งสิ้น 708 คน กลุ่มเป้าหมาย เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการทีมประสานและทีมทำของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำนวน 49 คน (49 คนมาจากครูประจำชั้น ครูหอ ครูพยาบาล และทีมงานโดยประมาณ) ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และกลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา ในปีการศึกษา 2564 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 6 ระดับชั้นละ 20 คน จำนวน 120 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยการแจกแจงความถี่ (Frequency) และหาค่าร้อยละ (Percentage) การวิเคราะห์ผลการประเมินโครงการและความพึงพอใจระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโดยการหาค่าเฉลี่ย (x ̅) และส่วนเบี่ยงแบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัย
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ข้อมูลทั่วไปของผู้ที่ตอบแบบสอบถามเป็นครูโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา จำนวน 49 คน คิดเป็นร้อยละ 29.00 และเป็นนักเรียน จำนวน 120 คน คิดเป็นร้อยละ 71.00
2. ผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา ในภาพรวมพบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.37 , S.D. = 0.500) เมื่อพิจารณาผลการประเมินจำแนกเป็นรายด้าน 4 ด้าน พบว่า การประเมินปัจจัยหรือทรัพยากร มีความคิดเห็นมากที่สุด รองลงมา การประเมินกระบวนการ การประเมินผลผลิต และการประเมินบริบทหรือสภาวะแวดล้อม ตามลำดับ
3. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.38 , S.D. = 0.518) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ เรียงจากมากไปน้อย ปรากฏว่า การแจ้งข้อมูลต่าง ๆ ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมา การส่งต่อนักเรียนให้กับผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำให้นักเรียนได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง การจัดกิจกรรมโฮมรูมระหว่างครูที่ปรึกษาและนักเรียนเพื่อให้เกิดบรรยากาศเหมือนบ้าน การดูแลช่วยเหลือนักเรียนของครูที่ปรึกษาและโรงเรียน และการจัดทำรายงานพฤติกรรมร่วมกันระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะในการประเมิน
การประเมินโครงการครั้งนี้ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPP Model) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ครอบคลุมปัจจัยในการบริหารโครงการและสอดคล้องกับการประเมินทางการศึกษา สามารถนำรูปแบบการประเมินดังกล่าวไปใช้ประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนหรือโครงการอื่น ๆ ได้ และควรมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการประเมินโครงการ เช่น คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อให้สารสนเทศเกี่ยวกับผลกระทบ (Impact) และผลลัพธ์ (Outcome) จากการดำเนินโครงการมากยิ่งขึ้น