ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา
ศาสนาและวัฒนธรรม โดยใช้โมเดลซิปปาร่วมกับการใช้ปัญหาเป็นฐาน
เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะชีวิต
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 3
ผู้วิจัย นางปาริชาติ ศานติวงศ์สกุล
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมโดยใช้โมเดลซิปปาร่วมกับการใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะชีวิต ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 3 รูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ผู้วิจัยได้มีการดำเนินการวิจัยโดยแบ่งตามขั้นตอนการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะชีวิต
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ศึกษาแนวคิดรูปแบบการสอนและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและครูผู้สอน ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้โมเดลซิปปาร่วมกับการใช้ปัญหา
เป็นฐาน ประเมินโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 3 การศึกษาผลการใช้การจัดการเรียนการสอน
กลุ่มตัวอย่างครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านศาลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 3 มี ปีการศึกษา 2564 จำนวน 9 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง ระยะที่ 4 ประเมินความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนโดยกลุ่มตัวอย่าง
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้โมเดลซิปปาร่วมกับการใช้ปัญหาเป็นฐานเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 Reviewing : การทบทวนความรู้เดิมโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ผู้สอนกำหนดปัญหาโดยนำเสนอสถานการณ์ปัญหา ขั้นที่ 2 Researching : การศึกษาหาความรู้ ผู้เรียนเข้ากลุ่มศึกษาข้อมูลระดมสมองคิดหาทางแก้ปัญหาที่หลากหลายวิธี ขั้นที่ 3 Synthetic : การสกัดองค์ความรู้ที่ได้ ผู้เรียนจะเข้ากลุ่มย่อยเพื่ออภิปรายปัญหาภายในกลุ่ม ระดมสมองคิดวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการหาคำตอบ ขั้นที่ 4 Evaluation : การสรุปและประเมินความรู้ที่ได้ ผู้เรียนทั้งชั้นร่วมอภิปรายเพื่อตรวจสอบวิธีคิดหรือแก้ไขปัญหานั้น ๆ จากนั้นผู้เรียนจะเข้ากลุ่มของตนเองเพื่ออภิปรายร่วมกันหาข้อสรุปภายในกลุ่ม เพื่อเลือกแนวทางการแก้ไขปัญหา ขั้นที่ 5 Applying : การประยุกต์ใช้ความรู้ผู้เรียนจัดระบบองค์ความรู้ สังเคราะห์ความรู้ที่ได้ ไปใช้อธิบายเหตุการณ์หรือเรื่องราวอื่น
2. นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้โมเดลซิปปาร่วมกับการใช้ปัญหาเป็นฐาน มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเท่ากับ 25.00 เมื่อนำมาเปรียบเทียบโดยการทดสอบที่แบบไม่อิสระแบบกลุ่มเดียว พบว่า นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนกรสอนโดยใช้โมเดลซิปปาร่วมกับการใช้ปัญหาเป็นฐาน มีค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะชีวิตหลังเรียนเท่ากับ 8.44 เมื่อนำมาเปรียบเทียบโดยการทดสอบ
ที่แบบไม่อิสระแบบกลุ่มเดียว พบว่า นักเรียนมีคะแนนทักษะชีวิตหลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอน
โดยใช้โมเดลซิปปาร่วมกับการใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.23)