ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม
ผู้รายงาน นางสาวอัญชลี ชูช่วย
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม ในครั้งนี้ โดยใช้การประเมินตามแบบจำลอง CIPP Model มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อประเมินบริบท (Context Evaluation) ด้านความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ และโครงการ ประเมินความพร้อมด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ประเมินกระบวนการดำเนินงานโครงการ (Process Evaluation ) และประเมินผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหาร จำนวน 4 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน คณะกรรมการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จำนวน 40 คน ครู จำนวน 118 คนและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน และกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 341 คน ซึ่งสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) กำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสุ่มของ Krejcie และ Morgan นำมาเทียบสัดส่วนร้อยละกับจำนวนผู้ปกครองนักเรียนแต่ละระดับชั้นและระดับห้องเรียน ได้กลุ่มตัวอย่างนักเรียน จำนวน 341 คน จากประชากรทั้งหมดจำนวน 2,954 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ แบบประเมิน 4 ฉบับ แบบรายงาน 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหาผลประเมินสรุปได้ดังนี้
1. การประเมินด้านบริบท พบว่า วัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจน มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 กฎกระทรวงการประกันคุณภาพ พ.ศ. 2561 ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ใช้มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2561 และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด
2. การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีความเหมาะสมในระดับมากถึงมากที่สุด ดังนี้ (1) บุคลากร มีจำนวนเพียงพอต่อการดำเนินงาน มีบุคลากรที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน และเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถด้านการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา (2) ทรัพยากร ได้แก่ งบประมาณมีความเพียงพอและเหมาะสมต่อการดำเนินงาน วัสดุอุปกรณ์มีคุณภาพและประสิทธิภาพ วัสดุอุปกรณ์มีความสะดวกต่อการใช้และมีความทันสมัย และวัสดุอุปกรณ์มีจำนวนเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน (3) ความร่วมมือของบุคลากร ได้รับความร่วมมือจาก ครู ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชนและหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่การศึกษา (4) ความรู้ความสามารถของผู้บริหารในการจัดการ ได้แก่ การส่งเสริม การพัฒนาครู มีภาวะผู้นำและความสามารถในการบริหารจัดการ การบริหารวิชาการและเป็นผู้นำทางวิชาการ มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และมีความคิดริเริ่มและมีวิสัยทัศน์ และ (5) ระยะเวลาในการดำเนินงานและกิจกรรมของโครงการ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
3. การประเมินด้านกระบวนการ พบว่า กระบวนการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษามี 8 ประการ และมีความเหมาะสมในระดับมากถึงมากที่สุด ดังนี้ การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษามุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา การจัดให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา การประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา การจัดให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง การจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายใน ผลการจัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรและดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาอยู่ในระดับมาก สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการทุกกิจกรรม นอกจากนี้ยังสามารถบริหารจัดการงบประมาณให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ตลอดจนดำเนินการปรับปรุงและพัฒนางานในระหว่างการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4. การประเมินด้านผลผลิต ได้แก่ ผลผลิตตามวัตถุประสงค์ของโครงการ สรุป ได้ดังนี้
การประเมินด้านผลผลิตตามวัตถุประสงค์ของโครงการมีความเหมาะสมในระดับมาก ครูมีความคิดเห็นต่อการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาในระดับมาก ผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาการประกันคุณภาพสถานศึกษาในระดับมาก และผลผลิตตามวัตถุประสงค์ของโครงการจากผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาปีการศึกษา 2564 (ร้อยละ 93.68) สูงกว่าปีการศึกษา 2563 (ร้อยละ 91.82)