คุณธรรม จริยธรรม คือคุณงามความดีหรือการประพฤติปฏิบัติของบุคคลในสิ่งที่ควร
ประพฤติ ภายใต้กรอบ กฎเกณฑ์ที่สังคมเห็นว่าถูกต้องเหมาะสมต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและต่อสังคม
เป็นพื้นฐานของชีวิตที่จะประสบผลสำเร็จทั้งในส่วนตนและส่วนรวม นั่นหมายถึงความสำเร็จของการจัดการศึกษา บุคคลมีความรู้ คู่คุณธรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน โรงเรียน ดงมอนวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา มุกดาหารโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) มีผู้ร่วมศึกษา จำนวน 20 คนได้แก่ ผู้ศึกษา และครูผู้สอน จำนวน 19 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 395 คน ได้แก่ ครูประจำชั้น จำนวน 19 คน นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 16 จำนวน 308 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 8 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 60 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบบันทึกการประชุม แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน แบบสัมภาษณ์ และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลยึดหลักการตรวจสอบข้อมูลหลายมิติ (Triangulation) นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา
ผลการศึกษาปรากฏว่า
1. สภาพปัญหาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน ด้านความมีวินัย ก่อนการดำเนินงานเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม พบว่า นักเรียนขาดวินัยด้านความประพฤติและการแต่งกาย ขาดคุณลักษณะ- อันพึงประสงค์ที่ดีงาม ก่อให้เกิดปัญหาด้านความมีระเบียบวินัยในการเป็นนักเรียน เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเนื่อง นักเรียนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อกำหนดของโรงเรียน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการจัด การเรียนการสอนเป็นอย่างมาก
2. การดำเนินการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน เป็นการร่วมกันระหว่างโรงเรียน บ้าน วัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกำหนดแนวทางเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม นักเรียนร่วมกันดำเนินการจัดกิจกรรม การกำกับติดตามและการประเมินผล โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา 3 กิจกรรม ได้แก่ การประชุมแบบมีส่วนร่วม การอบรมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน และการเยี่ยมบ้านนักเรียน
3. ผลการดำเนินงาน
3.1 ด้านความประพฤติ มีนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ประพฤติผิดระเบียบวินัย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่ปฏิบัติตนตามระเบียบ ข้อบังคับที่โรงเรียนกำหนดไว้ ได้แก่ การเคารพครู การตั้งใจเรียน ความรับผิดชอบงานที่มอบหมาย การไม่เล่นการพนัน การไม่ทำลายทรัพย์สมบัติของโรงเรียน การไม่เสพสิ่งเสพติด ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.77 ซึ่งถือว่าบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้คณะครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนยังให้ความร่วมมือในการสอดส่องดูแลความประพฤติของนักเรียนในกลุ่มนักเรียนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี ส่งผลให้นักเรียนมีความตระหนักในการประพฤติตนให้มีคุณธรรม จริยธรรมอยู่ในระเบียบวินัยมากขึ้น
3.2 ด้านการแต่งกาย มีจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรมผิดระเบียบวินัยด้านการแต่งกายไม่ถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียน เช่น การสวมเสื้อผ้า เข็มขัด สวมถุงเท้า และรองเท้า การไว้ทรงผมผิดระเบียบ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4.09 ซึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และนักเรียน ได้มีความรู้ความเข้าใจในระเบียบวินัยของโรงเรียนมากขึ้น
3.3 ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.86 หมายความว่า ผู้ปกครองมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ของนักเรียน ให้มีวินัยในด้านความประพฤติ และมีการแต่งกายที่ดีนั้น ส่งผลให้นักเรียนสามารถปฏิบัติตนได้เหมาะสม สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม ได้เป็นอย่างดี ส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ดีและการจัดการเรียนการสอน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ