รายงานผลการประเมินโครงการการดำเนินงานส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนโรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการดำเนินงาน ด้านผลผลิต ซึ่งประกอบด้วย ผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืน การถ่ายทอดส่งต่อ และด้านความพึงพอใจ การดำเนินงานส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนโรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) ประกอบด้วย 5 กิจกรรม คือ 1) แหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ประกอบด้วย กิจกรรมจัดการเรียนการสอนรายวิชาเพิ่มเติมชั้น ม.1 - ม.3 และประเพณีโล้ชิงช้า 2) ปูแม่ฟ้าหลวงแหล่งเรียนรู้สู่การอนุรักษ์ ประกอบด้วย กิจกรรมบูรณาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรม 1 วัน ท่องเที่ยวดอยแสนใจ 3) ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ประกอบด้วย กิจกรรมคิดดี ทำดี มีรางวัล 4) เกษตรพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ประกอบด้วย กิจกรรมเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน 5) บริษัทสร้างการดีร้านกาแฟดอยแสนใจ ประกอบด้วย กิจกรรมร้านกาแฟดอยแสนใจ และเบเกอรี่ ระยะเวลาในประเมินโครงการ ปีการศึกษา 2564 โดยใช้การประเมินรูปแบบ CIPPIEST Model ประชากรที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย ครูจำนวน 20 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 13 คน นักเรียนจำนวน 48 คน และผู้ปกครองจำนวน 48 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 129 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า วัตถุประสงค์ของโครงการกับ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 นโยบายโรงเรียน และความต้องการจำเป็นของโรงเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของสถานศึกษา รองลงมาวัตถุประสงค์มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน และวัตถุประสงค์สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของผู้เรียน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโครงการตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมด้านปัจจัย โดยรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ มีความพร้อมในการประสานงานด้านต่าง ๆ ขณะดำเนินงานตามโครงการ รองลงมาสถานที่ดำเนินกิจกรรมเพียงพอและเหมาะสม และผู้รับผิดชอบโครงการมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ และมีความรู้ในการดำเนินโครงการ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการตามความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ: บริษัทสร้างการดีร้านกาแฟดอยแสนใจ มีระดับของการปฏิบัติมากที่สุด พบว่า การส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ: บริษัทสร้างการดีร้านกาแฟดอยแสนใจ รองลงมา มีการส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ: พิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า และมีคณะกรรมการนิเทศกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนเกี่ยวกับผลผลิตของโครงการโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า
ด้านการประเมินผลกระทบ พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คือ นักเรียนมีความรู้ ทักษะ กระบวนการคิด ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ และมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพต่าง ๆ
ด้านการประเมินประสิทธิผล พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก คือ โครงการสามารถส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่นักเรียน และสามารถพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนให้เกิดประโยชน์และยั่งยืนเผยแพร่สู่ชุมชนได้
ด้านความยั่งยืนโครงการ พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก คือ โครงการมีความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและชุมชนโดยรอบ
ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก คือ มีการพัฒนาและส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพเป็นต้นแบบการดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่นักเรียน ชุมชน และผู้สนใจ
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของครูที่มีต่อการดำเนินโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับความพึงพอใจมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สภาพปัญหาตรงกับความต้องการจำเป็นของโครงการ รองลงมา กำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการได้เหมาะสม และการประชุมชี้แจงคณะกรรมการผู้มีส่วนร่วม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้เข้าใจวัตถุประสงค์และการดำเนินโครงการได้เหมาะสม ส่วนความพึงพอใจที่ได้จากการดำเนินโครงการ โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สถานศึกษามีสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนทั้งความรู้ทางวิชาการและทักษะอาชีพ และมีการจัดการเรียนรู้ของครูในการส่งเสริมพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนเหมาะสม