บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการห้องเรียนภาษาอังกฤษ (English Class) ในสถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของโรงเรียน
วัดจุกกะเฌอ
ผู้รายงาน วิยะดา นาคสิน
ปีการศึกษา 2564
หน่วยงาน โรงเรียนวัดจุกกะเฌอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลโครงการห้องเรียนภาษาอังกฤษ (English Class) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของโรงเรียนวัดจุกกะเฌอ โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) ร่วมกับรูปแบบการประเมินแบบ CSE ของอัลคิน (Alkin) เป็นแนวทางในการประเมินประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ การประเมินบริบท การประเมินปัจจัยเบื้องต้น การประเมินกระบวนการ กาประเมินผลสำเร็จ การประเมินการปรับปรุง และการประเมินการยอมรับ ประชากรผู้ให้ข้อมูลในกาประเมินโครงการ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ ผู้ปกครองของนักเรียน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 ของโรงเรียนโรงเรียนวัดจุกกะเฌอ ปีการศึกษา 2564 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม จำนวน 8 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการประเมินพบว่า (1) ด้านบริบทมีความเหมาะสมของสภาพทั่วไปของโครงการและความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์กับเป้าหมายของโครงการ อยู่ในระดับมาก (µ = 4.50, σ = 0.46) (2) ด้านปัจจัยเบื้องต้นมีความเหมาะสมและความพอเพียงของทรัพยากรที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ อยู่ในระดับมาก
(µ = 4.50, σ = 0.48) (3) ด้านกระบวนการมีความเหมาะสมของขั้นตอนการดำเนินงานตามความคาดหวังของโครงการ อยู่ในระดับมาก (µ = 4.49, σ = 0.37)
(4) ด้านผลสำเร็จนักเรียนห้องเรียนภาษาอังกฤษมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อยู่ในระดับมาก (µ = 4.46, σ = 0.49) และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนห้องเรียนภาษาอังกฤษ (English Class) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 สูงกว่านักเรียนห้องเรียนปกติอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 (5) ด้านการปรับปรุง พบว่า ข้อบกพร่อง ปัญหา และอุปสรรคของโครงการที่มีความถี่สูงที่สุด คือ ครูผู้สอนจบไม่ตรงสาขาที่สอน ข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขที่มีความถี่สูงที่สุด คือ จัดหาครูให้ตรงตามวิชาเอก จุดเด่นของโครงการที่มีความถี่สูงที่สุด คือ นักเรียนในโครงการมีพัฒนาการในการใช้ภาษาอย่างเห็นได้ชัด และจุดด้อยของโครงการ
ที่มีความถี่สูงที่สุด คือ เทคโนโลยี มีความล้าสมัย (6) ด้านการยอมรับ พบว่า คณะกรรมการบริหารโครงการและคณะกรรมการดำเนินงานโครงการมีความพึงพอใจ
ต่อโครงการ อยู่ในระดับมาก (µ = 4.47,σ = 0.47) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อโครงการ อยู่ในระดับมาก (µ = 4.44, σ = 0.40) และผู้ปกครอง
มีความพึงพอใจต่อโครงการ อยู่ในระดับมาก (µ = 4.44, σ = 0.44)