ชื่อเรื่อง : การบริหารจัดการสถานศึกษาคุณภาพด้วย PECHODS MODEL
ชื่อผู้รายงาน : นายอัมพร เพชรโชติ
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการโรงเรียนจันทร์ประภัสสร์อนุสรณ์
ปีที่รายงาน : 2565
บทสรุปผู้บริหาร
การบริหารจัดการสถานศึกษาคุณภาพด้วย PECHODS MODEL นี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริหารสถานศึกษาให้มีคุณภาพ 2) เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม การดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ 3) เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้ ความสามารถ มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยการบริหารจัดการสถานศึกษาคุณภาพด้วย PECHODS MODEL ผู้รายงานดำเนินการตามกระบวนการ 7 ขั้น ได้แก่ Planning (การวางแผน), Environment (การจัดสภาพแวดล้อม), Continuance (ความต่อเนื่อง), Harmony (ความเป็นหนึ่งเดียว), Opportunity (การสร้างโอกาสการศึกษา), Duty (การทำงานในหน้าที่), Sufficiency Economy (เศรษฐกิจพอเพียง) กลุ่มเป้าหมายการบริหารจัดการ คือ นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารสถานศึกษา ผู้รายงานพบว่า การบริหารจัดการสถานศึกษาคุณภาพด้วย PECHODS MODEL เป็นกระบวนการนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาการบริหารสถานศึกษาในกลุ่มงานทั้ง 4 กลุ่มงาน ประกอบด้วย กลุ่มบริหารงานวิชาการ กลุ่มบริหารงานงบประมาณ กลุ่มบริหารงานบุคคล และกลุ่มบริหารงานทั่วไป ผลการดำเนินการปรากฏดังนี้
1. สถานศึกษาได้รับความไว้วางใจในการบริหารจัดการศึกษา จากผู้ปกครองและชุมชนมีความพึงพอใจต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบสถิติจำนวนนักเรียนปีการศึกษา 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.69 และปีการศึกษา 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.86
3. นักเรียนได้รับการส่งเสริมในด้านการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ สร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริง จนทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 เพิ่มขึ้นในบางรายวิชา อีกทั้งผลการแข่งขันมหกรรมวิชาการชายแดนใต้ ปีการศึกษา 2565 ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 7 รายการ จากรายการที่ส่งเข้าแข่งขัน 23 รายการ คิดเป็นร้อยละ 30.43
4. ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการส่งเสริมสนับสนุน การปฏิบัติงาน การพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลให้ประสบความสำเร็จ โดยผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าเฝ้าฯ รับโล่รางวัลดีเด่นแห่งชาติทางวิชาชีพการบริหารการศึกษา ประเภทผู้บริหารสถานศึกษาดีเด่น จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาวิชาชีพ คิดเป็นร้อยละ 80 และครูได้รับรางวัลต่าง ๆ จำนวน 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.5