ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยใช้
WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564
ผู้รายงาน นายวิศวเนตร เจริญสุข
รองผู้อำนวยการโรงเรียนสงขลาวิทยาคม
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2564
บทสรุป
รายงานการประเมินโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยใช้
WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน โดยประยุกต์รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) มาใช้ในการประเมิน
กลุ่มตัวอย่างในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย นักเรียน จำนวน 265 คน ครู จำนวน 40 คน ผู้ปกครอง จำนวน 265 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมี ทั้งหมด 7 ฉบับ ได้แก่ แบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 5 ฉบับ พร้อมคำถามปลายเปิด (Open-Ended Questionair) เพื่อทราบข้อเสนอแนะ มีการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือทุกฉบับได้มีค่าความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง 0.937 - 0.983 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือค่าร้อยละ (Percentage)ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Division) รวมถึงแบบบันทึกข้อมูลตามสภาพจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน จำนวน 1 ฉบับ และแบบบันทึกผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรสถานศึกษา จำนวน 1 ฉบับ
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context) ของโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยใช้ WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และครูโดยรวมทั้ง 2 กลุ่มผู้ประเมินมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ได้คะแนน 15 ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งโดยภาพรวมและรายตัวชี้วัด และเมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มพบว่า กลุ่มครูมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.72 , S.D. = .43) มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ( x̄= 4.63 , S.D. = .44) ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ของโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยใช้ WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ของโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน โดยใช้ WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครู โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.60 , S.D. = .47) ได้คะแนน 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process) ของโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยใช้ WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process) ของโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยใช้ WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง พบว่า โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและมากที่สุด เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มที่ประเมินพบว่า กลุ่มครูมีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.64 , S.D. = .55) รองลงมา คือกลุ่มผู้ปกครองอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.46 , S.D. = .71) ส่วนกลุ่มนักเรียนมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ( x̄= 4.45 , S.D. = .60) ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product) ในการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยใช้ WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 โดยประเมินใน 4 ประเด็น ดังนี้
4.1 ผลการประเมินด้านคุณภาพในการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยใช้ WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 โดยรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากและมากที่สุด ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน และเมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มพบว่า กลุ่มครูมีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.64 , S.D. = .57) รองลงมา คือ กลุ่มนักเรียน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.45 , S.D. = .66)
4.2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามสภาพจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนสงขลาวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล ปีการศึกษา 2564 และเมื่อพิจารณาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง รายการมาโรงเรียนสาย มีค่าสูงสุด ร้อยละ 1.93 รองลงมาคือ รายการ ขาดเรียน มีค่าร้อยละ 1.70 และรายการที่มีค่าร้อยละต่ำสุด คือรายการไว้ผมผิดระเบียบ มีค่าร้อยละ 0.19 ส่วนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง รายการฝ่าฝืนระเบียบอื่นๆ มีค่าสูงสุดร้อยละ 1.89 รองลงมาคือ กระด้างกระเดื่องต่อครู มีค่าร้อยละ 0.38 ส่วนรายการพกพาอาวุธและทะเลาะวิวาท มีค่าต่ำสุด ร้อยละ 0.19 และไม่ปรากฏพฤติกรรมเล่นการพนัน ลักขโมย ใช้สารเสพติด ทำลายทรัพย์สิน ชู้สาว และสูบบุหรี่ ที่ปรากฏ ในปีการศึกษา 2564
4.3 ผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวมทั้ง 8 ประการ ที่มีระดับคุณภาพดี 97.26 รองลงมา ได้แก่ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 95.46 ส่วนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ใฝ่เรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยร้อยละต่ำสุด ร้อยละ 91.40
4.4 ผลการประเมินด้านความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน โดยใช้ WISDOM MODEL โรงเรียนสงขลาวิทยาคม ปีการศึกษา 2564 โดยรวมพบว่าทุกกลุ่มที่ประเมินมีความ พึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดและมาก ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้ประเมินพบว่ากลุ่มครู มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.67 , S.D. = .48) รองลงมา คือ กลุ่มนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.51 , S.D. = .45) ส่วนกลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.32 , S.D. = .69) ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. โรงเรียนควรนำผลการประเมินโครงการมาวิเคราะห์ หาจุดเด่น จุดที่ควรพัฒนา เพื่อกำหนดรูปแบบและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนตามความเหมาะสม
2. โรงเรียนควรนำรูปแบบ วิธีการและกิจกรรมต่างๆ ในโครงการไปประยุกต์ใช้ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน
3. ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง มีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของโครงการและควรยกย่องเชิดชูเกียรติ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ชื่อเสียงผลงานของบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุนโครงการด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม
4. ควรนำผลการประเมินโครงการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นๆ และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
ข้อเสนอแนะเพื่อการประเมินครั้งต่อไป
1. ควรศึกษารูปแบบหรือแนวทางในการประเมินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน ที่นอกเหนือจากรูปแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมิน
2. ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน ตามบริบทสภาพของโรงเรียนที่แตกต่างกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาการดำเนินงานตามโครงการต่อไป
3. ควรมีการศึกษาการประเมินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน ในเชิงคุณภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป