ชื่อเรื่อง การวิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้
ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning)
โรงเรียนชุมชนคลองจันทน์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท
ผู้วิจัย นายอรรถสิทธิ์ รักโสภา
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) โรงเรียนชุมชนคลองจันทน์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 17 คน และผู้บริหารที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารการศึกษา จำนวน 5 คน 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนชุมชนคลองจันทน์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท ปีการศึกษา 2563 รวมจำนวน 269 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้เป็นกลุ่มประชากรทั้งหมด และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม และแบบประเมินความเหมาะสมความเป็นไปได้ของรูปแบบ และแบบสอบถามความ พึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการ
เรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) พบว่า โรงเรียนชุมชนคลองจันทน์ มีการดำเนินงานโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ในระดับมาก โดยเฉพาะด้านการวางแผน มีการดำเนินงานมากที่สุด ซึ่งโรงเรียนมีการวางแผนการทำงานร่วมกัน โดยการกำหนดตารางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการกำหนดปฏิทินการนิเทศ รองลงมา คือ ด้านการดำเนินงาน โดยให้ครูนำแผนการจัดการเรียนรู้สู่ห้องเรียน โดยการเตรียมความพร้อมของครู การจัดกระบวนการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผล ตลอดจนให้ครูมีการสรุปและรายงานผล สำหรับแนวทางในการบริหารการศึกษา โรงเรียนควรมีการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความเข้าใจแก่ครูในโรงเรียนเกี่ยวกับชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน โดยการแนะนำบทความ แนวคิดหรือวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ การศึกษาดูงาน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น
2. ผลการสร้างและตรวจสอบรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) พบว่า รูปแบบการบริหารการศึกษา มีองค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบ คือ หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ กระบวนการบริหารงาน แนวทางในการประเมินผล และปัจจัยความสำเร็จ กระบวนการบริหาร ได้แก่ 1) กำหนดเป้าหมาย 2) หลากหลายวิธีคิด 3) พิจารณาความสัมพันธ์ 4) ร่วมกันพัฒนา และ 5) แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ผลการประเมินรูปแบบตามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ โดยภาพรวม มีความเป็นไปได้ ในระดับมากที่สุด และมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) โรงเรียนชุมชนคลองจันทน์ พบว่า
3.1 ผลการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) พบว่า ครูผู้สอนมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีระดับการปฏิบัติมากที่สุด คือ ด้านการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก รองลงมาคือ การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้เชิงรุก ด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
3.2 ผลการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ในปีการศึกษา 2563 พบว่า นักเรียนโรงเรียนชุมชนคลองจันทน์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คิดเป็นร้อยละ 66.47
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) พบว่า ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจต่อการบริหารโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด และมีความเห็นว่ารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) โรงเรียนชุมชนคลองจันทน์ มีความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้องครอบคลุม อยู่ในระดับมากที่สุด