ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอน 6SUDA Model เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและทักษะการใช้เทคโนโลยีสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางสุดาวรรณ โคตรเนตร
หน่วยงาน โรงเรียนห้วยทับทันวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28
ปีที่พิมพ์ 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อเสริมสร้างทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและทักษะการใช้เทคโนโลยีสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการสอนเพื่อเสริมสร้างทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและทักษะการใช้เทคโนโลยีสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนห้วยทับทันวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 28 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 39 ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลสภาพการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) แบบประเมินความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจพิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบการสอน 3) รูปแบบการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 5 หน่วย 4) แบบทดสอบวัดทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 5) แบบประเมินทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และ 6) แบบประเมินทักษะการใช้เทคโนโลยี การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ในระยะทดลองได้จัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้น และมอบหมายภาระงานให้นักเรียนจัดทำคลิปวีดีโอตามความสนใจและความต้องการของนักเรียน จำนวน 3 ชิ้นจากหน่วยการเรียนรู้ที่เรียน เพื่อศึกษาทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและทักษะการใช้เทคโนโลยีของนักเรียนจากการประเมินชิ้นงานคลิปวีดิโอ
ผลการวิจัยมีดังนี้
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบประเด็นข้อมูลด้านวิธีสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 8 ประเด็น เรียงตามลำดับได้แก่ 1) การสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารควรเน้นเชิงรุก (Active Learning) ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง 2) การสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารควรบูรณาการ การใช้สื่อเทคโนโลยีและดิจิทัล 3) การสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารมีเป้าหมายหลักคือมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสื่อสารภาษาอังกฤษได้ 4) กิจกรรมการเรียนควรเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากที่สุด 5) โรงเรียนต้องจัดกิจกรรมบูรณาการสถานการณ์จริงให้นักเรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 6) โรงเรียนจัดกิจกรรมเสริมต่าง ๆ ให้กับนักเรียน เช่น กิจกรรมการสนทนาภาษาอังกฤษ ชุมนุมมัคคุเทศก์ การอบรมระยะสั้น การเข้าค่ายภาษาอังกฤษ 7) การแก้ไขข้อบกพร่องของนักเรียนไม่ควรทำให้นักเรียนอาย ขาดความมั่นใจในการพูด และ 8) การสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารควรใช้สื่อสภาพจริง เช่น วีดีทัศน์ ภาพยนตร์ และข้อมูลด้านการวัดและประเมินผลที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 ประเด็น เรียงตามลำดับได้แก่ 1) สถานศึกษาควรมีการนิเทศ กำกับ ติดตามผลการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง 2) กิจกรรมการประเมินภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารควรมีทั้งแบบรายบุคคล กิจกรรมคู่ กิจกรรมกลุ่ม และ 3) การประเมินผลภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารควรกำหนดน้ำหนักคะแนนการประเมินตามสภาพจริงมากกว่าแบบทดสอบ
2. ผู้วิจัยได้สังเคราะห์รูปแบบการสอนโดยใช้แนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้รูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า 6SUDA Model (SSSSSSUDA) ประกอบด้วย หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผล ซึ่งมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ 9 ขั้นตอน ได้แก่ 1) จุดประกายการเรียนรู้จากการดูและฟัง (Sparkling learning from watching and listening a video: S) 2) ย้อนหลังความรู้เดิม (Self-experience: S) 3) อ่านเติมความรู้ใหม่ (Skim-reading new text: S) 4) มุ่งใช้ประโยคเป้าหมาย (Sentence focus: S) 5) ฝึกใช้การพูดสื่อสาร (Speaking exercise: S) 6) ทำภาระชิ้นงานการพูด (Speaking task group work: S) 7) ร่วมคู่คิดแบ่งปัน (Understand and think-pair-share: U) 8) สร้างสรรค์วิดีโอจากงานเขียน (Develop a video clip from useful mind-map: D) และ 9) ประเมินผลหน่วยการเรียนสะท้อนผล (Assessment and reflection: A) โดยที่รูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.83/ 82.43
3. หลังการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการสอน 6SUDA Model นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
4. ผลการศึกษาทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารตามแนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ชิ้นงานคลิปวีดีโอที่ 1 คะแนนเฉลี่ยทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารตามแนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากคะแนนเต็ม 20 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.03 (S.D.=2.12) คิดเป็นร้อยละ 70.13 ทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเพิ่มขึ้นในชิ้นงานคลิปวีดีโอที่ 2 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.95 (S.D.=3.54) คิดเป็นร้อยละ 74.74 และเพิ่มขึ้นมากที่สุดในชิ้นงานคลิปวีดีโอที่ 3 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 17.21 (S.D.=0.71) คิดเป็นร้อยละ 86.03 รวมเฉลี่ยจำนวน 3 ชิ้นงาน นักเรียนมีทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 15.45 (S.D.=2.12) คิดเป็นร้อยละ 76.97 ตามลำดับ
5. ผลการศึกษาทักษะการใช้เทคโนโลยีตามแนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ชิ้นงานคลิปวีดีโอที่ 1 คะแนนเฉลี่ยทักษะการใช้เทคโนโลยีตามแนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากคะแนนเต็ม 20 มีค่าเท่ากับ 13.31 (S.D.=0.71) คิดเป็นร้อยละ 66.54 เพิ่มขึ้นในชิ้นงานคลิปวีดีโอที่ 2 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.64 (S.D.=3.54) คิดเป็นร้อยละ 73.21 และเพิ่มขึ้นมากที่สุดในชิ้นงานคลิปวีดีโอที่ 3 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.13 (S.D.=0.71) คิดเป็นร้อยละ 70.64 รวมเฉลี่ยจำนวน 3 ชิ้นงาน นักเรียนมีทักษะการใช้เทคโนโลยีตามแนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 42.08 (S.D.=1.65) คิดเป็น ร้อยละ 70.13 ตามลำดับ