บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพด้วยกิจกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านแม่ทาย อำเภอปง จังหวัดพะเยา มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการโดยการประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินผล Cippiest Model ของ Daniel L.Stufflebeam ที่ประเมินใน 8 ด้าน คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิภาพ ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายโยงความรู้ ซึ่งใช้ข้อมูลจากการเก็บแบบสอบถามจาก ครูและบุคลากรจำนวน 8 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน และผู้ปกครองจำนวน 39คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 54 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามเพื่อประเมินโครงการจำนวน 8 ฉบับ โดยใช้แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ รวบรวมข้อมูลจากแบบ สอบถามที่สำรวจข้อมูลในปีการศึกษา 2563 จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ผลการศึกษาตามรูปแบบการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ว่า
1. ด้านบริบท โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากและในรายข้อมีความคิดเห็นระดับมากถึงมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดคือ โครงการจะเกิดประโยชน์ต่อนักเรียน และ โครงการสอดคล้องกับสภาพปัญหาปัจจุบัน
2. ด้านปัจจัยนำเข้า โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในรายข้อพบว่ามีความคิดเห็นระดับมากถึงมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดคือ บุคลากรทุกคนมีความตระหนักถึงความสำคัญของโครงการ และผู้บริหารเห็นความสำคัญของโครงการ
3. ด้านกระบวนการ โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในรายข้อพบว่า มีความคิดเห็นระดับมากถึงมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ มีการประชุมเพื่อวางแผน การปฏิบัติงานของแต่ละกิจกรรม
4. ด้านผลผลิต โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในรายข้อพบว่ามีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ การดำเนินงานของนักเรียนในการทำกิจกรรมสหกรณ์สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
5. ด้านผลกระทบ โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในรายข้อพบว่ามีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้ปกครอง ครู และชุมชนให้การยอมรับว่านักเรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ
6. ด้านประสิทธิผล โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในรายข้อพบว่า มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ กิจกรรมตามโครงการสามารถพัฒนาทักษะอาชีพให้เกิดกับผู้เรียนเพิ่มขึ้นได้
7. ด้านความยั่งยืน โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในรายข้อพบว่ามีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ นักเรียนนำความรู้ด้านทักษะอาชีพที่ได้รับจากการปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
8. ด้านการถ่ายโยงความรู้ โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในรายข้อพบว่า มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ นักเรียนนำองค์ความรู้ หรือ ทักษะ ที่ได้รับจากการปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ได้
สรุปได้ว่าโครงการควรมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยจัดกิจกรรมและสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนมากขึ้นเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในทุกๆ ด้าน และเกิดความยั่งยืนของโครงการ โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้กับชุมชน และองค์กรอื่นๆ ภายนอก เพื่อสามารถที่จะเป็นแบบอย่าง หรือขยายผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป