การวิจัยเรื่อง รูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้ของครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพ ปัญหา และความต้องการในการรับการนิเทศของครูผู้สอนคณิตศาสตร์ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 2) สร้างและพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้ของครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 และ 3) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้ของครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 ที่พัฒนาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เฉพาะเพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้ของครูคณิตศาสตร์ 2) ศึกษารูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของครู 3) เปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจของครูเกี่ยวกับรูปแบบการนิเทศฯ 4) เปรียบเทียบพฤติกรรมการปฏิบัติตามรูปแบบฯ ของครู 5) เปรียบเทียบความสามารถการจัดการเรียนรู้ของครู 6) ศึกษาความพึงพอใจของครูที่มีต่อรูปแบบที่พัฒนาขึ้น และ 7) ศึกษาผลรายงานการวิจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียน
วิธีดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการการรับการนิเทศ ประกอบด้วย การวิเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์ผู้บริหารและครู จำนวน 38 คน ระยะที่ 2 การสร้างและพัฒนารูปแบบ ประกอบด้วย การศึกษาองค์ประกอบ การร่างรูปแบบ การตรวจสอบร่างรูปแบบและยืนยันรูปแบบโดย ผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 3 การหาประสิทธิผลของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น โดยการทดลองใช้รูปแบบกับครูแกนนำคณิตศาสตร์ จากโรงเรียน 219 แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 รวมทั้งสิ้นจำนวน 48 คน การนำไปทดลองใช้ภาคสนาม และสรุปผลการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
ประเด็นที่ 1 ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการรับนิเทศ
ผลการศึกษาสภาพปัญหา และความต้องการในการรับนิเทศ จากความคิดเห็นของผู้บริหาร และครู จำนวน 38 คน โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 ผลปรากฏว่า การนิเทศในสถานศึกษาโดยเฉพาะการนิเทศแบบคลินิกยังมีการดำเนินการในปัจจุบันแค่ขาดความต่อเนื่องและมีรูปแบบไม่ชัดเจน นอกจากนี้การปฏิบัติงานนิเทศ ยังขาดการวางแผนร่วมกันและไม่เป็นไปตามปฏิทินการปฏิบัติการ จึงมีความต้องการและจำเป็นในการรับการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้ของครูคณิตศาสตร์
ประเด็นที่ 2 ผลการศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบ
ผลการศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบที่สร้างขึ้นที่สอดคล้องกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 ประกอบด้วย 1) ความเป็นมาและความสำคัญ 2) หลักการ 3) วัตถุประสงค์ 4) เนื้อหา 5) กระบวนการพัฒนา และ 6) การวัดและการประเมินผล
ประเด็นที่ 3 ผลการศึกษารูปแบบการนิเทศแบบคลินิก
ผลการศึกษารูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้ของครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการนิเทศแบบคลินิกหลายท่านเสนอ รูปแบบและกระบวนการนิเทศแบบคลินิก และการสัมภาษณ์และความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า
1. มีความเหมาะสมของรูปแบบที่สร้างขึ้นอยู่ในระดับผ่านเกณฑ์ เนื่องจากการร่างต้นแบบรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้ของครูคณิตศาสตร์ ประกอบด้วย 1) ความเป็นมาและความสำคัญ 2) หลักการ 3) วัตถุประสงค์ 4) เนื้อหา 5) กระบวนการพัฒนา และ 6) การวัดผลและประเมินผลตามรูปแบบ
2. มีรูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้ของครูคณิตศาสตร์ 6 องค์ประกอบ องค์ประกอบที่ 1 การประชุมปรึกษาหารือก่อนการสังเกต องค์ประกอบที่ 2 การนิเทศแบบคลินิกเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ องค์ประกอบที่ 3 การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาวิชาคณิตศาสตร์ องค์ประกอบที่ 4 การสังเกตการสอนเพื่อการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 5 การวิเคราะห์สมรรถภาพการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 6 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนา
ประเด็นที่ 4 ผลการหาประสิทธิภาพของรูปแบบผลการหาประสิทธิภาพของรูปแบบที่พัฒนา
4.1 ครูมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบการนิเทศแบบคลินิกฯ หลังอบรมสูงกว่าก่อนอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4.2 ความสามารถในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์จากการประเมินหลังการใช้รูปแบบในภาพรวม
อยู่ในระดับมากที่สุด
4.3. พฤติกรรมการปฏิบัติตามรูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์มีความคิดเห็นต่อกระบวนการนิเทศแบบคลินิก อยู่ในระดับดีมาก
4.4 สำรวจความพึงพอใจของครู ที่มีต่อรูปแบบการนิเทศแบบคลินิกเพื่อสร้างเสริมความสามารถในการจัดการเรียนรู้ความพึงพอใจของครูที่มีต่อการเรียนรู้จากรูปแบบที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นในระดับมาก
4.5 ผลรายงานการวิจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียน จำนวน 48 คน สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพครูสามารถพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้