ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี
ชื่อผู้ประเมิน นายศักดิ์ชริน อาจหาญ
รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี
หน่วยงาน โรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สุราษฎร์ธานี เขต 1
ระยะเวลาประเมิน ปีการศึกษา 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์ การประเมิน 1) เพื่อประเมินบริบทโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี 2) เพื่อประเมิน ปัจจัยนำเข้าโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี 3) เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี และ 4) เพื่อประเมินผลผลิตโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี การประเมินใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (Context Input Process Product Evaluation Model : CIPP Model)
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ ครูโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี จำนวน 59คน นักเรียนโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี จำนวน 883 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี จำนวน 14 คน ในปีการศึกษา 2564 รวมทั้งหมด จำนวน 956 คน โดย เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสอบถามการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี ด้านบริบท ของโครงการ (สำหรับครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน) 2) แบบสอบถามการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (สำหรับครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน) 3) แบบสอบถามการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี ด้านกระบวนการของโครงการ (สำหรับครู) 4) แบบสอบถามการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี ด้านผลผลิต ตัวชี้วัด : การดำเนินงานตามองค์ประกอบของโครงการส่งเสริมสุขภาพ (สำหรับนักเรียน ครู และคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน) และ 5) แบบสอบถามการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาล สุราษฎร์ธานี ด้านผลผลิต ตัวชี้วัด : ความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องต่อโครงการ (สำหรับนักเรียน ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาล สุราษฎร์ธานี ด้านบริบทของโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า โรงเรียนมีความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และอาคารสถานที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือโครงการสอดคล้องกับนโยบายโรงเรียน ส่วนวัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และวัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าข้ออื่น ๆ ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียน อนุบาลสุราษฎร์ธานี ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ความเหมาะสมของกิจกรรมมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือบุคลากรที่รับผิดชอบโครงการมีความเหมาะสมด้านความรู้ความสามารถ ส่วนโรงเรียนมีอาคารเรียน และห้องต่าง ๆ อย่างเพียงพอ อยู่ในสภาพที่ใช้การได้และเอื้อต่อการจัดกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าข้ออื่น ๆ ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
3. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี ด้านกระบวนการของโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า การวางแผน (P) และ การดำเนินงาน (D) มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือการนำผลไปปรับปรุงและพัฒนา (A) ส่วนการติดตามและประเมินผล (C) มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าข้ออื่น ๆ ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
4. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี ด้านผลผลิตของโครงการ ตัวชี้วัด การดำเนินงานตามองค์ประกอบของโครงการส่งเสริมสุขภาพ และตัวชี้วัดความพึงพอใจ ของผู้เกี่ยวข้องต่อโครงการ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินในครั้งต่อไป ควรดำเนินการจัดกิจกรรมตามโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยนำผลการประเมินโครงการมาพัฒนาและปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น ควรมีการประสานงานที่เป็นระบบ และควรให้บุคลากรทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม เพราะจะทำให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และควรมีการเผยแพร่รูปแบบของการจัดกิจกรรมสู่ภายนอกองค์กร
คำสำคัญ : การประเมินโครงการ, ส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียน