บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินด้านบริบท 2) ด้านปัจจัยนำเข้า 3) ด้านกระบวนการ และ 4) ด้านผลผลิต ใช้รูปแบบการประเมินแบบ ซิปป์ โมเดล (CIPP model) ของสตัฟเฟิลบีม กลุ่มเป้าหมายเป็นครู จำนวน 12 คน นักเรียน จำนวน 147 คน และผู้ปกครอง จำนวน 147 คน ประเมิน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ก่อนการดำเนินโครงการ ประเมินด้านบริบท และด้านปัจจัยนำเข้า ระยะที่ 2 ระหว่างการดำเนินโครงการ ประเมินด้านกระบวนการ ระยะที่ 3 หลังการดำเนินโครงการ ประเมินด้านผลผลิต วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า 1) ด้านบริบท โดยรวมอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับคือ ความเป็นไปได้ของโครงการ รองลงมาคือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ และความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ 2) ด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับคือ ด้านสื่อ/เครื่องมือที่ใช้ รองลงมาคือ ด้านครูที่ปรึกษา/ครูประจำชั้น และด้านงบประมาณ 3) ด้านกระบวนการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับคือ การส่งต่อนักเรียน รองลงมาคือ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และการจัดกิจกรรมแนะแนว 4) ด้านผลผลิต โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับคือ นักเรียนได้รับการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างรอบด้าน รองลงมาคือ นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตและการปรับตัว นักเรียนรักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น และนักเรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว โรงเรียน ชุมชนและสังคม
บทนำ
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 2579 กำหนดในยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ โดยมีเป้าหมายให้คนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษา การดูแลและป้องกันจากภัยคุกคามในชีวิตรูปแบบใหม่ มีตัวชี้วัดที่สำคัญ เช่น สถานศึกษาที่จัดกระบวนการเรียนรู้และปลูกฝังแนวทางการจัดการความขัดแย้งโดยแนวทางสันติวิธีเพิ่มขึ้น มีการจัดการเรียนการสอน/กิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น มีระบบ กลไก และมาตรการที่เข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ และผู้เรียนในสถานศึกษาที่มีคดีทะเลาะวิวาทลดลง เป็นต้น โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนา คือ พัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยกระดับคุณภาพและส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษ ทั้งที่เป็นพื้นที่สูง พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนและพื้นที่เกาะแก่ง ชายฝั่งทะเล ทั้งกลุ่มชนต่างเชื้อชาติศาสนา และวัฒนธรรม กลุ่มชนชายขอบและแรงงานต่างด้าว พัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อการจัดระบบการดูแลและป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ยาเสพติด ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ภัยจากโรคอุบัติใหม่ ภัยจากไซเบอร์ เป็นต้น (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2560 น. ซ)
การพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความสามารถคุณธรรม จริยธรรม และมีวิถีชีวิตที่เป็นสุขตามที่สังคมมุ่งหวัง โดยผ่านกระบวนการทางการศึกษานั้นนอกจากจะดำเนินการด้วยการส่งเสริมพัฒนานักเรียนแล้ว การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนา เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทั้งด้านการสื่อสาร เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบต่อผู้คนในเชิงบวกแล้วในเชิงลบก็มีปรากฏเช่นกัน เป็นต้นว่า ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการระบาดของสารเสพติด ปัญหาการแข่งขันในรูปแบบต่างๆ ปัญหาครอบครัว ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ ความวิตกกังวล ความเครียด การปรับตัวที่ไม่เหมาะสมหรืออื่นๆ ที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ภาพความสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนานักเรียนให้เป็นไปตามความมุ่งหวังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริหาร ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษา เป็นหลักสำคัญในการดำเนินการต่างๆ เพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิดด้วยความรักและเมตตาที่มีต่อศิษย์ และภาคภูมิใจในบทบาทหน้าที่ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนให้เติบโต งอกงาม เป็นบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป (กรมสุขภาพจิต, 2551 น. 1-29)
ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน อันมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1) รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ด้วยความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคนที่มีพื้นฐานความเป็นมาของชีวิตที่ไม่เหมือนกัน หล่อหลอมให้มีพฤติกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านบวกด้านลบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจนักเรียนมากยิ่งขึ้น 2) การคัดกรองนักเรียน เป็นการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนเพื่อจัดกลุ่มนักเรียน จะได้หาแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการ 3) การส่งเสริมนักเรียน เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนในกลุ่มคัดกรอง ได้พัฒนาศักยภาพในตนเองให้มากที่สุด ให้มีความภาคภูมิใจในตนเอง และช่วยป้องกันมิให้นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มปกติและกลุ่มพิเศษกลายเป็นนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและมีปัญหา ในทางตรงกันข้าม เป็นการช่วยให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีปัญหา กลับมาเป็นนักเรียนกลุ่มปกติและมีคุณภาพ ตามมาตรฐานที่โรงเรียนคาดหวัง หรือตามศักยภาพของนักเรียนแต่ละบุคคล 4) การป้องกันและแก้ไขปัญหา เป็นการดูแลเอาใจใส่ต่อนักเรียนทุกคนเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา จำเป็นที่ต้องให้ความดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและหาวิธีการช่วยเหลือ ทั้งการป้องกันและการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นภาระงานที่ยิ่งใหญ่แต่มีคุณค่าอย่างมากเมื่อครูได้พัฒนาให้นักเรียน ได้เติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป และ 5) การส่งต่อในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียนของบุคลากรครู บางครั้งอาจเกินความสามารถจึงต้องมีการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้นว่า มูลนิธิ ตำรวจ สังคมสงเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียนได้รับการแก้ไขช่วยเหลืออย่างถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้นแก่นักเรียน (กระทรวงศึกษาธิการ. 2547 น. 4 - 6)
โรงเรียนบ้านบางกรัก เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขนาดกลาง จัดการศึกษาแบบสหศึกษา มีนักเรียนในระดับประถม มัธยมศึกษาตอนต้นที่มาจากครอบครัวหลายระดับ จากสถิติของฝ่ายปกครองนักเรียนและงานแนะแนวของโรงเรียน พบว่า นักเรียนมีปัญหาหลายด้าน เช่น ฐานะยากจน การขาดเรียน การหนีโรงเรียน ยาเสพติด ชู้สาว และปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง ปีการศึกษา 2562 และ 2563 นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ น้อยกว่าปีการศึกษา 2563 ดังนี้ ในปีการศึกษา 2562 กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ 59.69 วิทยาศาสตร์ 66.05 (โรงเรียนบ้านบางกรัก, 2562 น. 15 - 16) ปีการศึกษา 2563 กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ 68.65 และวิทยาศาสตร์ 72.07 (โรงเรียนบ้านบางกรัก. 2563 : 16 - 17) นอกจากนี้ยังพบนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ร้อยละ 17.15 นักเรียนที่ออกกลางคัน ร้อยละ 1.49 สถิติการขาดเรียน ร้อยละ 94.79 (โรงเรียนบ้านบางกรัก, 2563 น. 9) และจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ต่ำ โรงเรียนบ้านบางกรัก จึงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยกำหนดอยู่ในโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตามกลยุทธ์การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชากรในวัยเรียนอย่างทั่วถึงและเสมอภาคโดยการ มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งมีสถานศึกษาเป็นหัวใจสำคัญและเป็นพลังขับเคลื่อน ในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่สังคมไทยต้องการ โดยมีการดำเนินการ คือ วางแผนการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ ให้คำปรึกษา นิเทศการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้แก่โรงเรียน ติดตามและประเมินผลการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทั้งนี้มีการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในทุก ๆ ด้าน เช่น เครื่องแต่งกาย ทรงผม เครื่องเขียน แบบเรียน อาหารกลางวัน ค่าพาหนะการเดินทางและทุนการศึกษา เป็นต้น เพื่อให้สามารถมีความพร้อมในการเรียนจนจบการศึกษา
จากความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาดังกล่าวข้างต้นเห็นได้ว่าการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนานักเรียน ผู้ประเมินในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จึงทำการประเมินการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินของแบบ ซิปป์ โมเดล (CIPP model) ของสตัฟเฟิลบีม มาเป็นรูปแบบในการประเมิน ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินที่มีการประเมินเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นที่สำคัญคือใช้ควบคู่กับการบริหารโครงการ ซึ่งการประเมินเพื่อให้ได้สารสนเทศที่สำคัญมุ่งประเมิน 4 ด้าน คือ การประเมินบริบท การประเมินปัจจัยนำเข้า การประเมินกระบวนการ และการประเมินผลผลิต เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการในขั้นต่อไปอีกทั้งเน้นในเรื่องของการใช้ผลการประเมินเพื่อการปรับปรุง หรือการดำรงไว้ของโครงการ ว่ามีผลการดำเนินการอยู่ในระดับใด ประสบปัญหาและมีอุปสรรคอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้นำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อประเมินด้านบริบทของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา
2. เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา
3. เพื่อประเมินด้านกระบวนการของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา
4. เพื่อประเมินด้านผลผลิตของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา
ขอบเขตของการประเมิน
ในการประเมินครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดของเขตของการวิจัย ดังนี้
1. ขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายมาย/ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ระยะที่ 1 ก่อนการดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เป็นครู โรงเรียนบ้านบางกรัก ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ปีการศึกษา 2564 จำนวน 12 คน
ระยะที่ 2 ระหว่างการดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เป็นครู โรงเรียนบ้านบางกรัก ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ปีการศึกษา 2564 จำนวน 12 คน
ระยะที่ 3 หลังการดำเนินโครงการ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างดังนี้
1. ประชากรที่ใช้การประเมินระยะนี้ ประกอบด้วย ครู จำนวน 12 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 181 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 จำนวน 56 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 161 คน รวมทั้งสิ้น 410 คน
2. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้การประเมิน ประกอบด้วย
2.1 ครู จำนวน 12 คน โดยใช้ประชากรจริงเป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยจากการเลือกแบบเจาะจง
2.2 นักเรียน จำนวน 147 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 จำนวน 112 คน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 จำนวน 35 คน โดยใช้ตารางการสุ่มตัวอย่างของ เครจซี่ และมอร์แกน
2.3 ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 147 คน ได้จากการสุ่มแบบเจาะจงเฉพาะผู้ปกครองของนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง
2. ขอบเขตด้านเนื้อหา
ในการประเมินโครงการครั้งนี้ ใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบ ซิปป์ โมเดล (CIPP model) ของสตัฟเฟิลบีม ซึ่งมีประเด็นการประเมิน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) โดยพิจารณาสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในที่ส่งผลกระทบต่อโครงการโดยรวม จำนวน 4 ตัวชี้วัด ประกอบด้าย การประเมินความต้องการจำเป็นของโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และความสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน
2. การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) โดยพิจารณาทรัพยากรที่นำมาใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ จำนวน 5 ตัวชี้วัด ประกอบด้าย ด้านผู้บริหาร ด้านครูที่ปรึกษา/ครูประจำชั้น ด้านผู้ปกครอง ด้านสื่อ/เครื่องมือที่ใช้ และด้านงบประมาณ
3. การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) โดยพิจารณากระบวนการดำเนินงานโครงการในแต่ละขั้นตอน จำนวน 7 ตัวชี้วัด ประกอบด้าย การวางระบบบริหารงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การส่งเสริมพัฒนานักเรียน การป้องกันช่วยเหลือและแก้ไข การส่งต่อนักเรียน การนิเทศติดตาม ประเมินผล และรายงานผล
4. การประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) โดยพิจารณาจากผลผลิต จำนวน 8 ตัวชี้วัด ประกอบด้าย นักเรียนได้รับการพิทักษ์คุ้มครองและดูแล นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต นักเรียนได้รับการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างรอบด้าน นักเรียนรู้จักพึ่งตนเอง นักเรียนรักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น นักเรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว โรงเรียน ชุมชนและสังคม ความพึงใจของครู นักเรียนและผู้ปกครอง
3. ขอบเขตด้านระยะเวลา
ในการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านบางกรัก ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ประเมินในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
วิธีการประเมิน
ระยะที่ 1 ก่อนการดำเนินโครงการ
ก่อนการดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ผู้ประเมินได้ประเมิน 1) ด้านบริบท (Context Evaluation) จำนวน 4 ตัวชี้วัด ประกอบด้าย การประเมินความต้องการจำเป็นของโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และความสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน และ 2) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) จำนวน 5 ตัวชี้วัด ประกอบด้าย ด้านผู้บริหาร ด้านครูที่ปรึกษา/ครูประจำชั้น ด้านผู้ปกครอง ด้านสื่อ/เครื่องมือที่ใช้ และด้านงบประมาณ กลุ่มเป้าหมายเป็นครู จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินด้านบริบท และปัจจัยนำเข้า เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ระยะที่ 2 ระหว่างการดำเนินโครงการ
ระหว่างการดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ผู้ประเมินได้ประเมิน ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) จำนวน 7 ตัวชี้วัด ประกอบด้าย การวางระบบบริหารงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การส่งเสริมพัฒนานักเรียน การป้องกันช่วยเหลือและแก้ไข การส่งต่อนักเรียน การนิเทศติดตาม ประเมินผล และรายงานผล กลุ่มเป้าหมายเป็นครู จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินด้านกระบวนการ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ระยะที่ 3 หลังการดำเนินโครงการ
หลังการดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ผู้ประเมินได้ประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) จำนวน 8 ตัวชี้วัด ประกอบด้าย นักเรียนได้รับการพิทักษ์คุ้มครองและดูแล นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต นักเรียนได้รับการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างรอบด้าน นักเรียนรู้จักพึ่งตนเอง นักเรียนรักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น นักเรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว โรงเรียน ชุมชนและสังคม ความพึงใจของครู นักเรียนและผู้ปกครอง กลุ่มเป้าหมายเป็นครู จำนวน 12 คน นักเรียน จำนวน 147 คน และผู้ปกครอง จำนวน 147 เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินด้านผลผลิต แบบสอบถามความพึงพอใจของครู แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครอง เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย
ตอนที่ 1 การวิเคราะห์ประเด็นด้านบริบทของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ดังตารางที่ 1
พบว่า ด้านบริบทของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงตามลำดับคือ ความเป็นไปได้ของโครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ ความสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน และ ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ตามลำดับ
ตอนที่ 2 การวิเคราะห์ประเด็นด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ดังตารางที่ 2
พบว่า ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นทีการศึกษาประถมศึกษาพังงา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็น รายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงตามลำดับคือ ด้านสื่อ/เครื่องมือที่ใช้ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านครูที่ปรึกษา/ครูประจำชั้น ด้านผู้ปกครอง ด้านผู้บริหาร และด้านงบประมาณ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ตามลำดับ
ตอนที่ 3 การวิเคราะห์ข้อมูลประเด็นด้านกระบวนการของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ดังตารางที่ 3
พบว่า ด้านกระบวนการของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงตามลำดับคือ การส่งต่อนักเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การวางแผนบริหารงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนการนิเทศ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผล การจำแนกคัดกรองนักเรียน การป้องกันช่วยเหลือและแก้ไข การส่งเสริมพัฒนานักเรียน และการจัดกิจกรรมแนะแนว มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ตามลำดับ
ตอนที่ 4 การวิเคราะห์ประเด็นด้านผลผลิตของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ดังตารางที่ 4
1. ประเด็นด้านผลผลิตของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา
พบว่า ด้านผลผลิตของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงตามลำดับคือ นักเรียนได้รับการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างรอบด้าน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตและการปรับตัว นักเรียนรักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น นักเรียนได้รับการพิทักษ์คุ้มครองและดูแล นักเรียนรู้จักพึ่งตนเอง และนักเรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว โรงเรียน ชุมชนและสังคม มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ตามลำดับ
2. ความพึงพอใจของครูที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับคือ มีการศึกษาข้อมูลและเตรียมการอย่างดี มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ วัตถุประสงค์โครงการมีความเหมาะสม และกิจกรรมการพัฒนามีความเหมาะสม มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ตามลำดับ
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับคือ การให้อบรมด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่นักเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ การดำเนินการของครูประจำชั้นด้านการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และการส่งเสริมให้กำลังใจให้การยกย่องชมเชยจากครูประจำชั้น มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ตามลำดับ
4. ความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับคือ นักเรียนในความปกครองได้รับการดูแลเอาใจใส่ในด้านความประพฤติ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ การจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทำให้นักเรียนมีพัฒนาทางอารมณ์ในทางที่ดีขึ้น และการจัดกิจกรรมเพื่อปรึกษาหารือระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ตามลำดับ
สรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
1. จากผลการประเมินด้านบริบท พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากทุกประเด็น และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด ทั้งนี้อาจเนื่องจากนโยบายของโรงเรียนมีการดำเนินการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และโครงการได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน มีการสำรวจความต้องการของนักเรียน โรงเรียนและชุมชน เกี่ยวกับโครงการและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันปัญหาของโรงเรียน สังคมและประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านบางกัก (2564 : 4) ที่กล่าวว่า นโยบายของโรงเรียนในการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ใช้มาตรการในการสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียนมีมาตรฐาน โดยการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของกรมสุขภาพจิตและกรมสามัญในอดีตเป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่จะช่วยให้โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ใช้เป็นกลไกในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ปิยะวุฒิ ศรีชนะ (2559 : 1) ได้ศึกษา การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียน โพนงามพิทยาคาร จังหวัดยโสธร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 ที่พบว่า การประเมินบริบท พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก สอดคล้องกับงานวิจัยของ ธีระยุทธ เกตุมี (2563 : 3) ได้ศึกษา การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนพิชัย ที่พบว่า ด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม โดยรวมอยู่ในระดับมาก
2. จากผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ตัวชี้วัด ทั้งนี้เป็นเพราะผู้บริหารและผู้รับผิดชอบโครงการมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน กำหนดวัตถุประสงค์ที่มีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ มีการวางแผนการจัดกิจกรรมไว้อย่างชัดเจน มีอาคารสถานที่ห้องเรียนเพียงพอกับจำนวนนักเรียน ผู้บริหารมีคำสั่งมอบหมายงานไว้อย่างชัดเจน ครูเข้าใจถึงสภาพปัจจุบัน และปัญหาของโรงเรียน และครูมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กิติพงษ์ ศิลาอาจ (2563 : 1-2) ได้ศึกษา การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดอารีราษฎร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก ปีการศึกษา 2563 ที่พบว่า การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดอารีราษฎร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก ปีการศึกษา 2563 ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) โดยรวมและรายข้ออยู่ในระดับมาก สอดคล้องกับงานวิจัยของ ธีระยุทธ เกตุมี (2563 : 3) ได้ศึกษา รายงานการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนพิชัย ที่พบว่า ด้านปัจจัยนำเข้า โดยรวมอยู่ในระดับมาก
3. จากผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 7 ตัวชี้วัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะด้วยความตระหนักในภารกิจ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ผู้บริหารจำเป็นต้องดำเนินการประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทุกระดับ ผู้บริหารจึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนการปฏิบัติงานไว้อย่างชัดเจน บุคลากรมีส่วนร่วมในการวางแผนปฏิบัติกิจกรรม มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อพัฒนางาน รวมทั้งการจัดกิจกรรมเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมีการประชุมก่อนดำเนินการนิเทศภาย จัดทำแผนการนิเทศติดตาม และดำเนินการนิเทศติดตาม อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการยกย่องชมเชยผู้รับผิดชอบโครงการเมื่อประสบผลสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ จันทิมา อิ๋วสกุล (2560 :1-2) ได้ศึกษา รายงานการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 ที่พบว่า ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 เกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก สอดคล้องกับงานวิจัยของ ขวัญศิริ บุญสรรค์ (2560 : 1-2) ได้ศึกษา รายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนวังดอกไม้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก ที่พบว่า การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนวังดอกไม้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก ด้านความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงาน โดยรวมและรายข้ออยู่ในระดับมาก
4. จากผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 9 ตัวชี้วัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผลผลิตจากการดำเนินการตามโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือ เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้นักเรียนมีความรักและเห็นคุณค่าในตนเอง รักสถาบันครอบครัว มีความรับผิดชอบ สามารถพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น นักเรียนกลุ่มเสี่ยงและมีปัญหา สามารถลดละเลิกสุราและบุหรี่ และให้ผู้ปกครอง ครอบครัวและชุมชนในเขตบริการของโรงเรียน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ยะวุฒิ ศรีชนะ (2559 : 1) ได้ศึกษา การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนโพนงามพิทยาคาร จังหวัดยโสธร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 ที่พบว่า การประเมินผลผลิต พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และสอดคล้องกับงานวิจัยของ จันทิมา อิ๋วสกุล, (2560 :1-2) ได้ศึกษา การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 ที่พบว่า ผลผลิตของโครงการ โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก
การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านบางกรัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา จำนวน 4 ด้าน คือ ประเมินในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้อาจเนื่องจากโรงเรียนมีการวางแผนการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ ให้คำปรึกษา นิเทศการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้แก่โรงเรียน ติดตามและประเมินผลการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กิติพงษ์ ศิลาอาจ, (2563 : 1-2) ได้ศึกษา การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดอารีราษฎร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก ปีการศึกษา 2563 ที่พบว่า ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต อยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการประเมินโครงการไปใช้
1. จากผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้นโรงเรียนควรมีกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายของสถานศึกษา และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. จากผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่าด้านงบประมาณ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ตามลำดับ ดังนั้นโรงเรียนควรจัดการระดมทรัพยากรเพื่อหางบประมาณจากชุมชนและหน่วยงานอื่น ๆ มาสนับสนุนในการในจัดกิจกรรม สนับสนุนค่าพาหนะในการออกเยี่ยมบ้านอย่างเหมาะสม
3. จากผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า การจัดกิจกรรมแนะแนว มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด โรงเรียนควรจัดหาครู หรืออบรมครูให้มีความรู้ในการแนะแนวเพิ่มขึ้นเพื่อครอบคลุมด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ด้านการศึกษาต่อ รวมทั้งการแนะแนวทักษะชีวิต
4. จากผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า นักเรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว โรงเรียน ชุมชนและสังคม มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้นโรงเรียนควรมีการดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศของนักเรียน จัดอบรม สัมมนา นักเรียนโดยเน้นสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อจะได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานักเรียน