ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อการจัดการเรียนการสอนสู่คุณภาพ
ผู้เรียน โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จังหวัดปราจีนบุรี
ผู้รายงาน นายภาณุพงศ์ สังขะวินิจ
รองผู้อำนวยการโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อการจัดการเรียนการสอนสู่คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง ปีการศึกษา 2564 เป็นการประเมินโดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบทของโครงการ (Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) ด้านกระบวนการดำเนินโครงการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย ครูผู้สอน 116 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 14 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 344 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 344 คน รวมทั้งสิ้น 818 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่แบบประเมินโครงการ 4 ชุด ประกอบด้วย 1) แบบประเมินด้านบริบทของโครงการ 2) แบบประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ 3) แบบประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ และ 4) แบบประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ในด้านพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนสู่คุณภาพผู้เรียนและด้านความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินงานโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลจากการตอบแบบประเมินและนำมาหาค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) แล้วนำผลของการคำนวณมาแปลความหมายตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และสรุปผลการประเมินโครงการได้ดังนี้
1. ด้านบริบทของโครงการการพัฒนาบุคลากรเพื่อการจัดการเรียนการสอนสู่คุณภาพ
ผู้เรียน โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดทุกข้อ โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ โครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการการพัฒนาบุคลากรเพื่อการจัดการเรียนการสอนสู่
คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดทุกข้อ โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ บุคลากรในโรงเรียนมีจำนวนเพียงพอ และสามารถแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมได้
3. ด้านกระบวนการดำเนินงานโครงการการพัฒนาบุคลากรเพื่อการจัดการเรียนการ
สอนสู่คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดทุกข้อ โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานชัดเจน
4. ด้านผลผลิตของโครงการการพัฒนาบุคลากรเพื่อการจัดการเรียนการสอนสู่คุณภาพ
ผู้เรียน โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดทุกข้อ สำหรับด้านพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนสู่คุณภาพผู้เรียน รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ มีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ส่วนด้านความ พึงพอใจที่มีต่อโครงการ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรเพื่อการเรียนการสอนสู่คุณภาพผู้เรียน