ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน โรงเรียนบ้านสันติพิทยาคาร
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 2
ผู้ประเมิน นายทรรศนะ เลี้ยงรักษา
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน โรงเรียนบ้านสันติพิทยาคาร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 2 โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้ 1) เพื่อประเมินปฏิกิริยา (reaction) ของครูผู้เข้าร่วมโครงการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน 2) เพื่อประเมินการเรียนรู้ (learning)
ของครูผู้เข้าร่วมโครงการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน 3) เพื่อประเมินพฤติกรรม (behavior) ของครูผู้เข้าร่วมโครงการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน และ 4) เพื่อประเมินผลลัพธ์ที่เกิดต่อองค์กร (results) ประชากรที่ให้ข้อมูลในการประเมินโครงการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน ได้แก่ ครูโรงเรียนบ้านสันติพิทยาคาร ที่เข้ารับการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน จำนวน 4 คน การประเมินครั้งนี้ มีขั้นตอน 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ศึกษาโครงการที่มุ่งประเมิน เอกสารและงานประเมินที่เกี่ยวข้อง 2) กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน
3) ออกแบบการประเมิน 4) สร้างและพัฒนาเครื่องมือ ประกอบด้วย 4.1) แบบประเมินความพึงพอใจของครูผู้เข้ารับการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน 4.2) แบบทดสอบวัดความรู้การทำวิจัยในชั้นเรียนก่อนและหลังการอบรม และ 4.3) แบบวัดเจตคติของครูต่อการทำวิจัยในชั้นเรียน 4.4) แบบประเมินคุณภาพรายงานวิจัยในชั้นเรียน 5) เก็บรวมรวมข้อมูล และ 6) วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการประเมินปฏิกิริยา (reaction) พบว่า ระดับความพึงพอใจของครูผู้เข้ารับการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
2. ผลการประเมินการเรียนรู้ (learning) พบว่า คะแนนสอบของครูผู้เข้ารับการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียนหลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรม และครูมีเจตคติต่อการทำวิจัยในชั้นเรียนอยู่ในระดับสูง ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
3. ผลการประเมินพฤติกรรม (behavior) พบว่า จำนวนครูที่ส่งงานวิจัยในชั้นเรียน เท่ากับ 4 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ซึงเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้และผลการประเมินคุณภาพรายงานวิจัยในชั้นเรียนจากผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า รายงานวิจัยในชั้นเรียนมีผลการประเมินเฉลี่ย เท่ากับ 4.86 อยู่ในระดับคุณภาพดีเยี่ยม ซึ่งเป็นไปเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ กล่าวคือ รายงานวิจัยในชั้นเรียน มีคุณภาพระดับดีขึ้นไป
4. ผลการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดต่อองค์กร (results) พบว่า คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยของนักเรียนปีการศึกษา 2564 สูงกว่าคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยของนักเรียนปีการศึกษา 2563 ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้