บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนกับหลังเรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ 2) เพื่อศึกษาพัฒนาการของความสามารถในการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่ 6 โรงเรียนบ้านทุ่งตาแก้วที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 1 ห้องเรียน มีจำนวน 17 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แผนการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ จำนวน 1 หน่วยการเรียนรู้ มี 3 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ และ 3) แบบวัดความสามารถในการทำงานกลุ่ม
ผลการวิจัย พบว่า 1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน คะแนนความแตกต่าง 8.06 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 66.33 และ 2) ความสามารถในการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
คำสำคัญ: ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์, การเรียนรู้แบบการสืบเสาะ, การเรียนรู้แบบร่วมมือ, ความสามารถในการทำงานกลุ่ม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนกับหลังเรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ
2. เพื่อศึกษาพัฒนาการของความสามารถในการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ
สมมติฐานการวิจัย
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือสูงกว่าก่อนเรียน
2. ความสามารถในการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
กรอบแนวคิดการวิจัย
การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการทำงานกลุ่มโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยต่าง ๆ และได้สังเคราะห์การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ
วิธีดำเนินการ
ขอบเขตในการวิจัย
1. ประชากร คือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่ 6 ในโรงเรียนขนาดกลางในเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษา ศูนย์ทับสะแก-นาหูกวาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนอนุบาลทับสะแก 2) โรงเรียนบ้านทุ่งตาแก้ว 3) โรงเรียนสมาคมเลขานุการสตรี 2 และ 4) โรงเรียนบ้านดอนทราย รวมจำนวนประชากรทั้งหมด 113 คน ซึ่งศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
2. กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่ 6 โรงเรียนบ้านทุ่งตาแก้ว ภาคเรียน ที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 1 ห้องเรียน มีจำนวน 17 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (cluster random sampling)
3. ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรต้น คือ การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ
ตัวแปรตาม คือ 1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ 2) ความสามารถในการทำงานกลุ่ม
4. เนื้อหา ผู้วิจัยกำหนดเนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ สาระภูมิศาสตร์ เรื่อง ภูมิศาสตร์ไทยน่ารู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) เครื่องมือทางภูมิศาสตร์
5. ระยะเวลา การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการวิจัยในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โดยใช้เวลาในการดำเนินการทดลองจำนวน 3 ชั่วโมง
เครื่องมือในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช่ในการวิจัย มี 4 ชุด ประกอบด้วย 1) แผนการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ จำนวน 1 หน่วยการเรียนรู้ มีแผนการเรียนรู้ จำนวน 3 แผนการเรียนรู้ 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ แบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน รวม 20 คะแนน 3) แบบวัดความสามารถในการทำงานกลุ่ม โดยพิจารณาจากพฤติกรรมในการทำงานกลุ่ม โดยใช้เกณฑ์การประเมินแบบรูบริค รวม 6 ข้อ ข้อละ 3 คะแนน คะแนนเต็ม 18 คะแนน
สรุปผลการวิจัย
การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการทำงานกลุ่ม โดยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 สร้างความสนใจ ขั้นที่ 2 แบ่งกลุ่มพิจารณา ขั้นที่ 3 สำรวจสืบค้น ขั้นที่ 4 แบ่งปันบ้านฉัน ขั้นที่ 5 ทดสอบความรู้ ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าว พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือสูงกว่าก่อนเรียนคะแนนความแตกต่าง 8.06 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 66.33 และความสามารถในการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และมีพัฒนาการสูงขึ้นในช่วงระหว่างเรียนตามลำดับ เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้