บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพ โรงเรียนสวนป่าเขาชะอางค์ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารแบบมีส่วนร่วมของครูและบุคลากร โรงเรียนสวนป่าเขาชะอางค์ 2) เพื่อศึกษาผลการถอดบทเรียนในสถานศึกษาที่มีการปฏิบัติการที่ดี 3) เพื่อศึกษาผลการสร้างและตรวจสอบรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพ โรงเรียนสวนป่าเขาชะอางค์ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการบริหารแบบมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพ โรงเรียนสวนป่าเขาชะอางค์ ประชากรที่ใช้ จำนวนรวมทั้งสิ้น 241 คน ประกอบด้วย 1) ครูหรือบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 74 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 13 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 78 คน นักเรียนแกนนำ จำนวน 76 คน โดยมีเครื่องมือเป็นแบบสอบถาม จำนวน 3 ฉบับ แล้วนำผลมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปเบื้องต้นเพื่อหา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพปัจจุบันและปัญหาของการบริหารแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนสวนป่าเขาชะอางค์ สภาพในปัจจุบันของการบริหารแบบมีส่วนร่วม สถานศึกษาทุกประเภทจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และฉบับแก้ไขปรับปรุง 2545 กฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการสรรหาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ดังนี้ 1) ให้ประชาชน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการตัดสินใจและตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ 2) ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษา 3) ให้มีการระดมทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ เข้าใช้ในการบริหารจัดการศึกษาตามความจำเป็นและความเหมาะสม 4) ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อทำหน้าที่กำกับส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา 5) ให้มีการกระจายอำนาจในภาระงาน 4 ด้าน คือ การบริหารงานวิชาการ บริหารงานบุคคล บริหารงานงบประมาณ และบริหารงานทั่วไปให้กับสถานศึกษา เป็นต้น 6) การกำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับประกอบด้วยระบบการประกันคุณภาพภายใน 7) สถานศึกษาขั้นพื้นฐานต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการศึกษาในระดับต่าง ๆ ของชาติที่กำหนดไว้ สรุปได้ว่า สถานศึกษามีการร่วมมือกันระหว่างบ้าน องค์กรทางศาสนา สถาบันวิชาการ และองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาการศึกษาการจัดการเรียนรู้ที่สนองตอบต่อสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียนและพัฒนาวิถีการเรียนรู้ในชุมชน
2. ผลการถอดบทเรียนในสถานศึกษาที่มีการปฏิบัติการที่ดี ผลการศึกษาข้อมูลภาพรวม ดังนี้
1) บุคลากรของสถานศึกษา จำนวนนักเรียนแตกต่างกันไปตามขนาดของสถานศึกษา
2) มีอาคารเรียน อาคารประกอบ ห้องเรียน และห้องเรียนพิเศษที่เพียงพอ
3) ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีและได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภายนอกเหมือนกันทั้ง 2 โรงเรียน
4) มีสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน โดยภาพรวมได้มาจาก เงินงบประมาณที่โรงเรียนได้รับจัดสรรเพื่อการจัดซื้อโดยโรงเรียน
5) เป้าหมายของสถานศึกษาไว้ในวิสัยทัศน์ พันธกิจหรือส่วนอื่น ๆ สรุปได้ ดังนี้ พัฒนาคุณภาพของบุคลากร พัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานชาติ ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการบริหารแบบมีส่วนร่วม
6) การจัดองค์ความรู้ของโรงเรียนไม่แตกต่างกัน คือ จัดรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ การจัดการแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน ซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างกัน ร่วมแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนจัดได้หลากหลาย เป็นไปตามบริบทโรงเรียน
ระบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม
มิติที่ 1 มิติสถานศึกษา บุคลากรมีทักษะการมีส่วนร่วมดังนี้ ทักษะในการจัดการเรียนรู้ ทักษะการวัดผลประเมินผล ทักษะทางคอมพิวเตอร์ ทักษะทางมนุษยสัมพันธ์ เช่น การทำงานกลุ่ม การทำงานเป็นทีม สามารถปฏิบัติบทบาทหน้าที่ตามสถานภาพของตนที่ดำรงอยู่ได้อย่างเหมาะสมเกื้อกูลซึ่งกันและกันทำให้การบริหารจัดการ การดำเนินงานภายในโรงเรียนบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียนที่ได้กำหนดไว้ ผู้บริหารสถานศึกษาแสดงพฤติกรรมความเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย โดยการให้ผู้ร่วมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นให้ผู้ร่วมงานเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา ประเมินทางเลือกโดยการระดมความคิดเห็นตัดสินใจร่วมกันและนำผลการตัดสินใจหรือทางเลือกที่เลือกไว้ไปปฏิบัติร่วมกัน
มิติที่ 2 มิติการบริหารแบบมีส่วนร่วม ผู้บริหารสถานศึกษาเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียน ประกอบด้วย 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้อำนวยการ 1 คน และรองผู้อำนวยการ และหรือหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ 2) กลุ่มปฏิบัติการ ประกอบด้วยบุคลากรครูและบุคลากรสนับสนุนทั้งหมด 3) กลุ่มผู้รับบริการ ประกอบด้วยนักเรียนในรูปของคณะกรรมการนักเรียนหรือสภานักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน และ 4) กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษา 13 คน สมาคมครูและผู้ปกครอง ศิษย์เก่า สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชน
ผู้บริหารสถานศึกษาให้ผู้ร่วมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของโรงเรียน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนเกี่ยวกับหน้าที่บริหาร เข้าไปมีส่วนร่วม 5 หน้าที่ คือ การวางแผน การจัดองค์การ การนำ การควบคุมและการบริหารจัดการสารสนเทศในส่วนของภาระหน้าที่ เข้าไปมีส่วนร่วมใน 4 ด้าน คือ บริหารงานวิชาการ บริหารงานบุคคล บริหารงบประมาณ และบริหารงานทั่วไป และในส่วนของการมอบหมายงานตามดุลพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา
3. ความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพ โรงเรียนสวนป่าเขาชะอางค์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี โดยรวมอยู่ในระดับความเหมาะสม มากที่สุด
4. ครู ผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพึงพอใจ ในรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรเพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพ โรงเรียนสวนป่าเขาชะอางค์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด
และในส่วนการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพของนักเรียนโรงเรียนสวนป่าเขาชะอางค์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับ มาก