การศึกษาเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดสะตือ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1
ผู้รายงาน นางขวัญใจ เบญจะขันธ์
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสะตือ
วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการ
ปีที่ศึกษา 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา
รายงานการประเมินโครงการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อประเมินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดสะตือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดสะตือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดสะตือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน โรงเรียนวัดสะตือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ปีการศึกษา 2564 รวมจำนวน 352 คน เลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 239 คน จำแนกเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ครู จำนวน 15 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 158 คน และนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 57 คน ได้มาโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Devation) และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการประเมิน
1. การประเมินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดสะตือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ในภาพรวมทั้ง 4 ด้าน พบว่า ภาพรวมมีความคิดเห็น อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.52, S.D.= 0.12) เมื่อพิจารณาจำแนกเป็นรายด้าน โดยเรียงจากค่าเฉลี่ยสูงสุดลงมา พบว่า ลำดับแรก คือ ด้านสภาพแวดล้อม ( = 4.56, S.D.= 0.17) รองลงมา คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ( = 4.55, S.D.= 0.24) ด้านผลผลิต ( = 4.51, S.D.= 0.24) และด้านกระบวนการ ( = 4.48, S.D.= 0.27) ตามลำดับ
2. การประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดสะตือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 พบว่า ภาพรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.45, S.D.= 0.27)
3. การศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดสะตือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู และผู้ปกครองนักเรียน สรุปดังนี้
3.1 ด้านรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล
ครูประจำชั้นต้องตรวจสอบประวัติของนักเรียน จัดทำเอกสารของนักเรียน เป็นรายบุคคล เช่น ข้อมูลสภาพครอบครัว สภาพทั่วไป ให้คำแนะนำและพูดคุยกับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง นำเครื่องมือที่ได้มาตรฐานมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น แบบประเมินพฤติกรรมนักเรียน แบบประเมิน SDQ และสังเกตพฤติกรรมโดยการสัมภาษณ์ การเยี่ยมบ้านนักเรียน และครูต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
3.2 ด้านการคัดกรองนักเรียน
ควรจัดประชุมครู ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน เพื่อทำความเข้าใจในการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ครูประจำชั้น ต้องคัดกรองนักเรียนและจำแนกนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้แก่ กลุ่มนักเรียนที่เรียนเก่ง กลุ่มนักเรียนที่เรียนปานกลาง กลุ่มนักเรียนที่เรียนอ่อน หรือกลุ่มนักเรียนพิเศษ และแจ้งผลการคัดกรองให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อร่วมกันเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาให้กับนักเรียนที่มีปัญหา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลไว้เป็นความลับที่ไม่ควรเปิดเผย และพัฒนาระบบข้อมูลนักเรียนให้มีข้อมูลการคัดกรองนักเรียนที่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน
3.3 ด้านการส่งเสริมนักเรียน
ส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นทุกกิจกรรม โดยมีการมอบรางวัลยกย่องและให้คำชมเชย เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาตามศักยภาพของแต่ละคน ทั้งนี้ โรงเรียนต้องอาศัยร่วมมือกับผู้ปกครองนักเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนได้เต็มศักยภาพ จัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน และห้องเรียนให้สะอาดร่มรื่น จัดหาแหล่งเรียนรู้ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน พานักเรียนไปทัศนศึกษานอกสถานที่ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ ๆ จัดค่ายคุณธรรมให้กับนักเรียน จัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ครู และผู้ปกครองนักเรียนเกี่ยวกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
3.4 ด้านการป้องกัน ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา
แต่งตั้งครูรับผิดชอบเกี่ยวกับงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยตรง และส่งเสริมให้ครูเข้ารับการอบรมสัมมนา ประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองนักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกโรงเรียน ในการกำหนดแผนงาน กิจกรรมป้องกัน ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน ครูประจำชั้น ครูแนะแนว และครูรับผิดชอบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ความช่วยเหลือนักเรียนให้สอดคล้อง และตรงกับปัญหาของนักเรียน ใช้เครื่องมือและวิธีการทำงานที่ชัดเจน มีการเตรียมความพร้อมด้านเอกสาร สื่อ อุปกรณ์ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินงาน และมีการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยมีหลักฐานการปฏิบัติงานที่สามารถตรวจสอบได้
3.5 ด้านการส่งต่อนักเรียน
กรณีที่พบว่า นักเรียนมีปัญหายากเกินกว่าที่ทางโรงเรียนจะดูแลช่วยเหลือได้ให้ทำการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญภายนอกเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา จัดฝ่ายผู้รับผิดชอบโดยตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการส่งต่อนักเรียน ควรมีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ รวมถึงรายงานการดำเนินงานการส่งต่อนักเรียนที่มีปัญหาให้กับผู้เชี่ยวชาญภายนอก ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ โรงเรียนควรจัดทำบันทึกการปฏิบัติงาน และรายงานความก้าวหน้าในการช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บันทึกหลักฐานการปฏิบัติงานและประเมินผลรายงานส่งผู้บริหารโรงเรียนให้รับทราบจากแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดสะตือ