ชื่อผลงานวิชาการ การประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564
ผู้ประเมิน นายอานนท์ ธิติคุณากร
หน่วยงาน โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1
ปี พ.ศ. 2565
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินความเหมาะสมของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ของสตัฟเฟิลบีม แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) และด้านผลผลิต (Product) เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง มีจำนวนทั้งสิ้น 758 คน จำแนกเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู จำนวน 96 คน นักเรียน จำนวน 331 คน และผู้ปกครอง จำนวน 331 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของนักเรียนและผู้ปกครองโดยคำนวณจากสูตรขนาดกลุ่มตัวอย่างของยามาเน่ (Yamane) และสุ่มตัวอย่างนักเรียนแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) และเลือกกลุ่มตัวอย่างของผู้ปกครองแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการประมินโครงการ ได้แก่ แบบประเมินเกี่ยวกับบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการดำเนินงาน และผลผลิตของโครงการ เพื่อสอบถามข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายด้าน แบ่งเป็น 4 ฉบับ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating scale) รวมจำนวนข้อคำถามทั้งสิ้น 129 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 ในภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าทุกด้านอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านความต้องการจำเป็นของโครงการ และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าทุกข้ออยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 ในภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าทุกด้านอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ความพร้อมด้านการบริหารจัดการ และความพร้อมด้านงบประมาณ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ความพร้อมด้านสื่อ เครื่องมือและนวัตกรรม และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าทุกข้ออยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 ในภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าทุกด้านอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านการส่งเสริม สนับสนุน นิเทศติดตามและประเมินผล และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ทุกข้ออยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 มีดังนี้
4.1 ด้านคุณภาพของนักเรียน ในภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าทุกข้ออยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน
4.2 ด้านผลสำเร็จต่อสถานศึกษาและชุมชน ในภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าทุกข้ออยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน
จากผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) และด้านผลผลิต (Product) ทำให้สามารถสรุปผลการประเมินในภาพรวมได้ว่า การดำเนินงานโครงการได้ผลในระดับมาก และโครงการมีประโยชน์ต่อนักเรียน โรงเรียนสมควรดำเนินการโครงการนี้ต่อไป