2ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับเทคนิค
การแก้โจทย์ปัญหา KWDL เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นายดาวลอย พิมพิบาล
โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
ในการพัฒนาครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับเทคนิคการแก้โจทย์ปัญหา KWDL เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับเทคนิคการแก้โจทย์ปัญหา KWDL เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น ดังนี้ 3.1) หาประสิทธิภาพของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3.2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น 3.3) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น 3.4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น 4) เพื่อประเมินการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น การวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 กลุ่มเป้าหมายคือ ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 4 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 12 คน โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสารและแบบสัมภาษณ์ ระยะที่ 2 กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบประเมินรูปแบบ ระยะที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จำนวน 31 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ 1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 16 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีค่าความยากง่าย (p) ตั้งแต่ 0.34 0.69 และมีค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ 0.23 0.89 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.93 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.88 และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ มีอำนาจจำแนกรายข้อ (rxy) ตั้งแต่ 0.22-0.81 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.91 ระยะที่ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอนรายวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 16 คน เครื่องมือที่ใช้แบบประเมินความคิดเห็น สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ t-test (Independent system)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า สภาพการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ระดับ ชั้นประถมศึกษายังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ เนื่องจากบริบทการจัดการเรียนการสอนของครู
ไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ยังขาดการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ การแก้ปัญหาและการให้เหตุผล ส่งผลให้นักเรียนเรียนคณิตศาสตร์ที่เน้นการจดจำข้อมูลความรู้ ขาดการใช้ความคิดในการแก้ปัญหา และครูมีความต้องการพัฒนารูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์พร้อมกับพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ อีกทั้งการจัดการเรียนรู้ต้องให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง มีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนและฝึกด้วยตนเอง ผ่านการเผชิญปัญหาและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง จึงจะทำให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับเทคนิคการแก้โจทย์ปัญหา KWDL เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีชื่อว่า ILALM Model มีองค์ประกอบที่พัฒนาขึ้น 6 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) สิ่งสนับสนุน มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 นำเข้าสู่บทเรียน (Introduction : I) ขั้นที่ 2 จัดการเรียนรู้ (Learning management : L) ขั้นที่ 3 ขั้นปฏิบัติ การเรียนรู้ (Action of Learning : A) ขั้นที่ 4 ขั้นสรุปบทเรียน (Lesson Summary : L) ขั้นที่ 5 วัดและประเมินผล (Measurement and evaluation : M) ผลการตรวจสอบ ความเหมาะสมของรูปแบบจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีคุณภาพเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับเทคนิคการแก้โจทย์ปัญหา KWDL เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ILALM Model) พบว่า 1) ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 85.30/84.69 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน
สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น โดยรวมอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินความคิดเห็นของครูผู้สอนรายวิชาคณิตศาสตร์ต่อการใช้รูปแบบการจัด การเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับเทคนิคการแก้โจทย์ปัญหา KWDL เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ILALM Model) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก