เรื่อง รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์บูรณาการกับเชิงรุก เรื่องพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ชื่อผู้วิจัย นางสาวนิภาพร ตีต้อ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดทองพุ่มพวง) เทศบาลเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน การจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 2) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์บูรณาการกับเชิงรุก เรื่องพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ 3) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์บูรณาการกับเชิงรุก เรื่องพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และ 4) ประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์บูรณาการกับเชิงรุก เรื่องพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดทองพุ่มพวง) เทศบาลเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ก่อนนำออกเผยแพร่เป็นผลงานทางวิชาการต่อไป กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ บุคลากรของโรงเรียน จำนวน 7 คน ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 7 คน ประชากรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2564 ภาคเรียนที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดทองพุ่มพวง) จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ประเด็นการจัดการเรียนรู้ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า มีค่าดัชนีความสอดคล้อง .98 แบบประเมินรูปแบบการจัด การเรียนรู้ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า มีค่าความเชื่อมั่น .96 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ มีค่าความเชื่อมั่น .91 แบบวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า มีค่าความเชื่อมั่น .95 แบบวัดความพึงพอใจต่อการเรียน เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า มีค่าความเชื่อมั่น .94 และแบบสอบถามเพื่อการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า มีค่าความเชื่อมั่น .98 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าร้อยละ (percentage) การประเมินผลก่อนเรียนและหลังเรียน เป็นการทดสอบด้วยค่าที (t test Dependent Samples และ t test The One Case Study)
สรุปผลการวิจัย
1. การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดทองพุ่มพวง) พบว่า โดยรวมใช้เนื้อหาในสาระที่ 1 : วิทยาศาสตร์ชีวภาพ มาตรฐานที่ ว 1.3 มาใช้ในการจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ เรื่องพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต วิธีการจัดการเรียนรู้คือการจัดการเรียนรู้แบบคอนสตรัคติวิสต์บูรณาการกับเชิงรุก และทักษะที่ใช้พัฒนานักเรียนคือ ทักษะการคิดวิเคราะห์
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์บูรณาการกับเชิงรุก เรื่องพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดทองพุ่มพวง) ที่สร้างขึ้นมีชื่อว่า BMLAE Model มีองค์ประกอบ 6 ด้าน คือ ด้านหลักการ ด้านวัตถุประสงค์ ด้านเนื้อหาสาระ ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการวัดผลและประเมินผล และด้านผลที่เกิดกับนักเรียน โดยมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้น คือ ขั้นสร้างความพร้อม (Building : B) ขั้นนำเสนอบทเรียน (Motivating : M) ขั้นจัดการเรียนรู้ (Learning : L) ขั้นนำไปใช้ (Applying : A) และขั้นประเมินผล (Evaluating : E) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้มีความเหมาะสม มีค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ .98 และครูผู้สอนเห็นว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้และทุกองค์ประกอบมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด โดยสูงสุดคือ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ รองลงมาคือ ด้านผลที่เกิดกับนักเรียน ต่อมาคือ ด้านเนื้อหาสาระกับด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านหลักการ ด้านการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ และด้านวัตถุประสงค์ ตามลำดับ โดยทุกข้อของรูปแบบและองค์ประกอบ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4.57 5.00
3. การศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ บูรณาการกับเชิงรุก เรื่องพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดทองพุ่มพวง) มีดังนี้
3.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.2 ทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์หลังเรียน อยู่ในระดับดีมาก สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ (3.00) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยสูงสุดคือ ด้านการหาความสัมพันธ์กับด้านการสรุปความ รองลงมาคือ ด้านการสื่อความกับด้านการจำแนก ตามลำดับ โดยทุกด้านและทุกข้ออยู่ในระดับ ดีมาก มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.72 3.90
4. การประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์บูรณาการกับเชิงรุก เรื่องพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดทองพุ่มพวง) ก่อนนำออกเผยแพร่เป็นผลงานทางวิชาการ มีดังนี้
4.1 ความพึงพอใจต่อการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า โดยรวมนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด โดยสูงสุดคือด้านประโยชน์ที่ได้รับ รองลงมาคือ ด้านบรรยากาศในการเรียนกับด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามลำดับ โดยทุกด้านและทุกข้อนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4.72 4.90
4.2 การประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า โดยรวมรูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยสูงสุดคือ ด้านหลักการ รองลงมาคือ ด้านการจัดการเรียนรู้กับด้านการวัดผลและประเมินการเรียนรู้ ต่อมาคือด้านผลที่เกิดกับนักเรียน ด้านวัตถุประสงค์ และด้านเนื้อหาสาระตามลำดับ โดยทุกด้านและทุกข้อของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4.67 5.00 สามารถนำออกเผยแพร่เป็นผลงานทางวิชาการได้ต่อไป