ชื่อเรื่อง การพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน
ผู้วิจัย นายพิบูลย์ สิทธิมงคล
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาองค์ประกอบและตัวชี้วัดของการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) สภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ และวิธีการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน 2) เพื่อออกแบบและพัฒนาโปรแกรมส่งเสริม การจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน 3) เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ของครูด้วยโปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน และ 4) เพื่อประเมินโปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน โดยแบ่งการวิจัย ออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (1) ศึกษาองค์ประกอบและตัวชี้วัดของการจัดการเรียนรู้ของครู กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน เพื่อยืนยันความ เหมาะสมขององค์ประกอบและตัวชี้วัดของทักษะการจัดการเรียนรู้ของครู (2) ศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์และวิธีการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหา ของนักเรียน กลุ่มเป้าหมาย คือ พนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานี ปีการศึกษา 2563 จำนวน 68 คน ระยะที่ 2 ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครู โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลคือ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้โปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน กลุ่มเป้าหมาย คือ พนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี จำนวน 24 คน ที่สมัครใจ เข้าร่วมการพัฒนาตนเอง เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม และแบบสอบถาม แบบวัดทักษะการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกพฤติกรรม สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และระยะที่ 4 ประเมินโปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน กลุ่มเป้าหมาย คือ พนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี จำนวน 24 คน ที่สมัครใจเข้าร่วมการพัฒนาตนเอง เครื่องมือที่ใช้คือ แบบประเมินโปรแกรมฯโดยประเมินพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. องค์ประกอบและตัวชี้วัดของการจัดการเรียนรู้ของครู มีจำนวน 5 องค์ประกอบ 15 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ด้านการบูรณาการฝึกการคิดและแก้ปัญหา เนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 2) ด้านการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิดและแก้ปัญหา 3) ด้านการใช้รูปแบบและเทคนิควิธีการสอนด้านการคิดและแก้ปัญหา 4) ด้านการพัฒนาสื่อและนวัตกรรมที่เน้นการคิดและแก้ปัญหา และ 5) ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ผลการประเมินองค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ของครู พบว่า ทุกองค์ประกอบมีความเหมาะสมอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง 0.60-1.00 และผลการศึกษาสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้ของครู โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับ ปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.41 และสภาพที่พึงประสงค์ของการจัดการเรียนรู้ของครู โดยรวมมีค่าเฉลี่ยระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.45
2. โปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน มีองค์ประกอบดังนี้ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการพัฒนา และการประเมินผล เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้ ผู้วิจัย ได้ออกแบบเนื้อหาของโปรแกรมโดยเน้นเนื้อหาตามค่าดัชนีความต้องการจำเป็นที่มีความต้องการอันดับแรก คือ การพัฒนาสื่อและนวัตกรรมที่เน้นการคิดและแก้ปัญหา ( p NI modified = 0.34) การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ (PNImodified =0.33) การออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิดและแก้ปัญหา (PNImodified =0.32) การใช้รูปแบบและเทคนิควิธีการสอนด้านการคิดและแก้ปัญหา (PNImodified =0.31) และการบูรณาการฝึกการคิดและแก้ปัญหาวิเคราะห์เนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ (p NI modified =0.21) ตามลำดับ วิธีการพัฒนาโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ประกอบด้วยกิจกรรม การฝึกอบรม การใช้ระบบพี่เลี้ยง และการนิเทศ ผลการประเมินโปรแกรมพัฒนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ใน ระดับมาก
3. ครูผู้เข้าร่วมการพัฒนาด้วยโปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ มีคะแนนการจัดการเรียนรู้ก่อนเข้าร่วมการพัฒนา โดยรวมอยู่ในระดับน้อย ( X=2.01) และภายหลังการเข้าร่วมโปรแกรมผ่านไป 4 สัปดาห์ ครูผู้เข้าร่วมโปรแกรมฯ มีคะแนนการจัดการเรียนรู้ อยู่ในระดับ มาก (X=4.47)
4. พฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียนของครูมีพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( X =4.46)