บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนวัดสุทธาวาสโดยใช้กิจกรรมวิทยาศาสตร์
ชื่อผู้วิจัย นางสาวกาญจนา บุหงอ
สถานศึกษา โรงเรียนวัดสุทธาวาส ตำบลโมถ่าย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2565
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคู่มือการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย และตรวจสอบคู่มือการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยที่พัฒนาขึ้นโดยการหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เปรียบเทียบทักษะการแก้ปัญหาก่อนและหลังจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ตลอดจนศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยที่มีต่อกิจกรรมวิทยาศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นเด็กปฐมวัยอายุ 5 - 6 ปี ซึ่งกำลังศึกษาระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ณ โรงเรียนวัดสุทธาวาส อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 จำนวน 17 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย คู่มือการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย แผนการจัดประสบการณ์การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย จำนวน 20 แผน แบบวัดทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย และแบบสอบถามความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยที่มีต่อกิจกรรมวิทยาศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเปรียบเทียบ ได้แก่ การใช้ The Wilcoxon Signed-Ranks Test สถิติหาคุณภาพของเครื่องมือ ได้แก่ การหาค่าความสอดคล้องของคู่มือการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยและแผนการจัดประสบการณ์ การหาค่าความตรงเชิงเนื้อหาของแบบวัดทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย (IOC) การหาค่า ความยาก ค่าอำนาจจำแนก การหาค่าความเที่ยงของแบบวัดทักษะการก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย โดยใช้ KR 20 การหาค่าความเที่ยงของแบบสอบถามความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยที่มีต่อกิจกรรมวิทยาศาสตร์โดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟา สถิติหาคุณภาพนวัตกรรมใช้ E1/E2 หาประสิทธิภาพของคู่มือการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการพัฒนาคู่มือการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีความสอดคล้องได้ค่า IOC เท่ากับ 0.97 และผลการหาประสิทธิภาพของคู่มือการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยมีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.53/83.61 ซึ่งมีผลเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80
2. เด็กปฐมวัยมีทักษะการแก้ปัญหาก่อนการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 51.35 หลังการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 62.71 เมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่าทักษะการแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
3. เด็กปฐมวัยมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมวิทยาศาสตร์ในภาพรวมอยู่ระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.73