ชื่อเรื่อง : การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เคมีไฟฟ้า ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย : นางอาทิยา ขาวประภา
หน่วยงาน : โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
ปีที่วิจัย : ปีการศึกษา 2563 ภาคเรียนที่ 2
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เคมีไฟฟ้า ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เคมีไฟฟ้า ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 3) เพื่อศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เคมีไฟฟ้า ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 3.1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เรื่อง เคมีไฟฟ้า 3.2) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร การเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เรื่อง เคมีไฟฟ้า และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5 ต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เคมีไฟฟ้า
การดำเนินการวิจัยมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร การเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) ขั้นตอนที่ 4 การปรับปรุงแก้ไขการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัด การเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 36 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบเป็นกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ มี 5 ชนิด ประกอบด้วย ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 8 ชุด แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 8 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ จำนวน 9 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจ ของนักเรียน จำนวน 20 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ ค่า E1/ E2 ตามเกณฑ์มาตรฐาน 75/75 การทดสอบค่าที (t-test dependent samples) และวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้ แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) ใช้ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลจากการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
1.1 สภาพการจัดกิจกรรมการสอนเคมีของครูชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยรวมปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่าการสอนโดยยึดเนื้อหาเป็นสำคัญและพยายามสอน ให้จบเนื้อหา ปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ เปิดโอกาสให้นักเรียนแก้ไขปัญหาที่คล้ายคลึงอยู่ในระดับมาก ส่วนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหา อย่างหลากหลาย ค่าเฉลี่ยต่ำสุด ปฏิบัติอยู่ในระดับน้อย
1.2 ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนเคมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เป็นปัญหาของครู โดยภาพรวม มีปัญหามาก 3 อันดับมากที่สุด คือ 1) ครูขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน 2) ครูขาดนวัตกรรมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และ 3) ครูขาด การพัฒนาเทคนิคการสอนแบบใหม่ ๆ ปัญหาที่เกิดจากนักเรียน โดยภาพรวมมีปัญหาในระดับมาก 3 อันดับมากที่สุด คือ 1) นักเรียนมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เคมีต่ำ 2) นักเรียนขาดความรับผิดชอบ ขาดระเบียบวินัย ไม่กล้าแสดงออก และ 3) นักเรียนขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาระเคมี
1.3 ความต้องการของครูในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาเคมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด จากความถี่ที่ครูเลือก 3 อันดับมากที่สุด คือ 1) ต้องการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนวิชาเคมีที่ทันสมัย 2) ต้องการพัฒนาการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ ในหัวข้อใหม่ ๆ อย่างหลากหลาย โดยเน้นให้สามารถนำไปใช้ได้จริง และ 3) ต้องการสื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ทันสมัย เหมาะสมและเพียงพอ
1.4 ข้อเสนอแนะของครูผู้สอนในการแก้ปัญหาจัดการเรียนการสอนวิชาเคมี 3 อันดับแรก คือ 1) ครูควรใช้นวัตกรรมการสอนทั้งสื่อและเทคนิคการสอนประกอบการสอน เพื่อให้นักเรียนสนใจ เข้าใจในหน่วยการเรียน สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น 2) ควรจัดให้มีการอบรมเพื่อพัฒนาครูให้มีความรู้เรื่อง เทคนิคการสอน วิธีการและเทคนิคการจัดกิจกรรม เสริมหลักสูตร อบรมวิธีการสอนแบบต่างๆ เช่น การสอนแบบศูนย์การเรียน การสอนซ่อมเสริมนักเรียนที่เรียนอ่อน และสอนเสริมนักเรียนที่เรียนเก่ง ควรจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ การสร้างเครื่องมือวัดผลการสร้างข้อสอบมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อสอบ การจัดทำคลังข้อสอบ วิธีปฏิบัติในการประเมินผล และ 3) จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ในเรื่อง การใช้และผลิตสื่อการเรียนการสอนวิชาเคมี วิธีเลือกใช้สื่อให้เหมาะกับวิชาการใช้สื่อที่หาง่ายในท้องถิ่น
1.5 ปัญหาในการเรียนวิชาเคมีของนักเรียน 3 อันดับแรก คือ ปัญหาในการเรียน วิชาเคมี ของนักเรียน 3 อันดับแรก คือ 1) ครูสอนจริงจัง ไม่ใช้สื่อในการสอน ให้ทำแบบฝึกหัดส่ง ทุกครั้ง ทำให้เครียด ข้อสอบยากเกินไป 2) ครูเข้มงวดทำให้บรรยากาศในการเรียนเครียด ไม่ใช้สื่อการสอนเพื่อช่วยให้เข้าใจ และ 3) ครูสอนเร็ว ไม่น่าสนใจ ตามไม่ทัน เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่อยากเรียน
1.6 ความต้องการของนักเรียนในการเรียนวิชาเคมีอย่างมีความสุข 3 อันดับแรก คือ 1) ครูควรมีสื่อการสอนที่หลากหลายเพื่ออธิบายเนื้อหาวิชาให้เข้าใจ 2) ครูควรสร้างบรรยากาศ ในการเรียนให้สนุกสนาน เช่น ร้องเพลง เล่นเกม และ 3) ควรมีวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายไม่น่าเบื่อมากกว่านี้
2. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร การเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เรื่อง เคมีไฟฟ้า ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีผลการประเมินประสิทธิภาพด้านกระบวนการ (E1) ได้ค่าประสิทธิภาพ 82.15 และผลการประเมินประสิทธิภาพ ด้านผลลัพธ์ (E2) ได้ค่าประสิทธิภาพ 81.17 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้คือ 75/75
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับ การจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เรื่อง เคมีไฟฟ้า ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า หลังเรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เรื่อง เคมีไฟฟ้า ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า หลังเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
5. ความพึงพอใจของนักเรียนหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการจัด การเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เรื่อง เคมีไฟฟ้า ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด