บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนอนุบาลท่าหลวง สำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 ปีการศึกษา 2564 ตามประเด็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม (context evaluation) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (input evaluation) ด้านกระบวนการ (process evaluation) และด้านผลผลิต (product evaluation) โดยประยุกต์ใช้การประเมินรูปแบบซิปป์ (CIPP Model)
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 459 คน ได้แก่ ครูและบุคลากร จำนวน 32 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 จำนวน 216 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 183 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอท่าหลวง จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในเก็บรวมรวมข้อมูลครั้งนี้เป็นแบบสอบถามประเมินโครงการแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ แบ่งออกเป็น 4 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามเกี่ยวกับด้านสภาพแวดล้อม โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 10 ข้อได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม เท่ากับ 0.937 ฉบับที่ 2 แบบสอบถามเกี่ยวกับด้านปัจจัยเบื้องต้น โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 15 ข้อ ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม เท่ากับ 0.922 ฉบับที่ 3 แบบสอบถามเกี่ยวกับด้านกระบวนการ โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 10 ข้อ ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม เท่ากับ 0.947 ฉบับที่ 4 แบบสอบถามเกี่ยวกับด้านผลผลิต โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 15 ข้อ ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม เท่ากับ 0.961 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation)
ผลการประเมิน พบว่า
1. การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนอนุบาลท่าหลวง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 ในภาพรวมอยู่ระดับมาก โดยด้านที่มีการปฏิบัติสูงสุด คือด้านผลผลิต รองลงมาคือ ด้านกระบวนการและ ด้านสภาพแวดล้อม ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีการปฏิบัติต่ำสุด คือ ด้านปัจจัยเบื้องต้น
2. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อมของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนอนุบาลท่าหลวง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ วัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจน รองลงมา คือ เป้าหมายของโครงการเป็นไปตาม ความต้องการของนักเรียน ครู และชุมชน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพสร้างนิสัยการรักษาสุขภาพแก่ นักเรียน ครู ชุมชน และ เป้าหมายของโครงการก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและครู
3. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น ของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนอนุบาลท่าหลวง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือบุคลากร นักเรียน มีความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ รองลงมา คือ บุคลากร นักเรียนมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ มีงบประมาณซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ ได้ทันตามกำหนด โรงเรียนจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพแก่บุคลากร นักเรียน ชุมชน และ โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดีในการดำเนินโครงการ
4. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนอนุบาลท่าหลวง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ แผนปฏิบัติการของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมีความซัดเจน รองลงมา คือ ระยะเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมตามแผนมีความเหมาะสม และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ การปฏิบัติงานตามโครงการเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอและตามขั้นตอน และแผนการปฏิบัติการของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมีกิจกรรมครบทุกด้าน
5. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนอนุบาลท่าหลวงโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพบรรลุตามวัตถุประสงค์ รองลงมา คือ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพบรรลุตามวัตถุประสงค์ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ครู นักเรียน และผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมบริการอาหารกลางวัน และ นักเรียนแปรงฟันหลังรับประทานอาหารจนเป็นนิสัย