บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สร้างรูปแบบ ศึกษาผลการใช้รูปแบบ และเพื่อประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองหนองบัวลำภู โดยใช้วิธีการวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานโดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ประชุมครู กศน. จำนวน 43 คน และการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบโดยการยกร่างรูปแบบตามองค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการ การวัดและประเมินผล และเงื่อนไขความสำเร็จ และนำเสนอร่างรูปแบบแก่ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมิน ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบ โดยนำไปใช้ในปีการศึกษา 2563-2564 กับครูและบุคลากร จำนวน 43 คน ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสรุปผลการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ และแบบประเมินความคิดเห็นต่อผลการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบใน 3 ประเด็น คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต กลุ่มผู้ให้ข้อมูล คือ ครูและบุคลากร ปีการศึกษา 2564 จำนวน 43 คน ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ คือ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เนื้อหาและสรุปข้อมูล
ผลการวิจัยพบว่า
1.ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองหนองบัวลำภู พบว่า การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ตามแนวคิดศาสตร์พระราชาสู่ โคก หนอง นา โมเดล เน้นการจัดการพื้นที่ชุมชนเพื่อทำเกษตรอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยแนวทางการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ควรวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความต้องการของพื้นที่ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานระดับสถานศึกษา มีการนำหลักการหรือแนวคิดมาใช้ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ควรกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในระดับสูง วางแผนความร่วมมือและวางกรอบการทำงานให้ชัดเจน จัดเตรียมทรัพยากรและสารสนเทศที่ใช้ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ วิเคราะห์กระบวนการและวิธีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ลงมือพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตามแผนการดำเนินงานโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร ครู นักศึกษา และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมบูรณาการการใช้แหล่งเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ติดตามและตรวจสอบความสำเร็จ สะท้อนผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการใช้แหล่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ประเมินและสรุปผลการดำเนินงาน และเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จสู่สาธารณชน
2.ผลการสร้างรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองหนองบัวลำภู
พบว่า
1) รูปแบบมีองค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการ การวัดและประเมินผล และเงื่อนไขความสำเร็จ โดยมีกระบวนการ 6 ขั้นตอน ได้แก่ กำหนดวิสัยทัศน์และค่านิยมร่วมกัน กำหนดเป้าหมายและวิธีปฏิบัติร่วมกัน ทำงานร่วมกันเป็นทีม เปิดรับคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญ สะท้อนผลการปฏิบัติงาน และถอดบทเรียนการปฏิบัติที่ดีและเผยแพร่ความรู้
2) ผลการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และคู่มือการใช้รูปแบบมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
3.ผลการใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองหนองบัวลำภู พบว่า การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ ฐานการเรียนรู้ที่ 1 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ฐานการเรียนรู้ที่ 2 โคก หนอง นา โมเดล ฐานการเรียนรู้ที่ 3 30 ตารางวา พายั่งยืน ฐานการเรียนรู้ที่ 4 ปุ๋ยและสมุนไพรไล่แมลง ฐานการเรียนรู้ที่ 5 คนรักสัตว์ และฐานการเรียนรู้ที่ 6 การแปรรูปผลผลิต โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงผลสำเร็จของการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ประจำปีงบประมาณ 2563 โครงการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สมุดเยี่ยม บันทึกการเรียนรู้ หนังสือขอความอนุเคราะห์ศึกษาดูงาน และภาพการจัดกิจกรรม
4.ผลการประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองหนองบัวลำภูโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ทุกด้านมีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และด้านปัจจัยนำเข้า ตามลำดับ