ชื่อเรื่อง การส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)ในโรงเรียน
สำหรับโรงเรียน ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด
ชื่อผู้ศึกษา นางอภันตรี พรรณาสุระ
ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ วิทยาฐานะ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ
สังกัด กองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด
ปีที่วิจัย 2563-2564
บทคัดย่อ
การวิจัยการส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการดำเนินการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด 2) สร้างชุดกิจกรรมการส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ 3) ศึกษาความพึงพอใจต่อคู่มือชุดกิจกรรมส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด โดยดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพการดำเนินการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนก่อนดำเนินการพัฒนา ระยะที่ 2 การพัฒนาและใช้คู่มือชุดกิจกรรมการส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน และระยะที่ 3 การศึกษาสภาพการดำเนินการและความพึงพอใจต่อชุดกิจกรรมส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารและครูในโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 44 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) การวิเคราะห์ข้อมูลหาค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. สภาพการดำเนินการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด โดยรวม และในแต่ละด้านอยู่ในระดับปานกลาง โดยองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสภาพการดำเนินการจากสูงไปหาต่ำ คือ ด้านการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านทีมเรียนรู้ และการจัดการความรู้ร่วมกัน ด้านค่านิยม และวิสัยทัศน์ร่วม และด้านการสนับสนุน และการเป็นผู้นำร่วม ตามลำดับ หลังการพัฒนาโรงเรียนมีสภาพการดำเนินการอยู่โดยรวม และในแต่ละด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสภาพการดำเนินการจากสูงไปหาต่ำ คือ ด้านการสนับสนุน และการเป็นผู้นำร่วม ด้านค่านิยม และวิสัยทัศน์ร่วม ด้านทีมเรียนรู้ และการจัดการความรู้ร่วมกัน และด้านการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามลำดับ
2. คู่มือชุดกิจกรรมการส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญมีความเหมาะสม
3. ผู้บริหารและครูมีความพึงพอใจต่อคู่มือชุดกิจกรรมส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านความพึงพอใจต่อการพัฒนาครูด้วยชุดกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านความพึงพอใจต่อชุดกิจกรรมอยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ : การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ, การจัดการเรียนรู้