การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ความต้องการ องค์ความรู้ในการสร้างรูปแบบการจัดการเรียนการรู้วิชาเคมีและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณประกอบการสร้างรูปแบบการจัดการเรียนการรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณาญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณาญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณาญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D) 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบัน ความต้องการ และองค์ความรู้ในการสร้างรูปแบบจัดการเรียนการรู้ และความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณาญาณ โดยสัมภาษณ์ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม จำนวน 8 คน และแบบทดสอบการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 32 คน ได้มาแบบการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการรู้แบบ EGPEA Model โดยนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ฉบับร่างเสนอผู้เชี่ยวชาญในการประเมินความเที่ยงตรง จำนวน 5 ท่าน แล้วทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณาญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ห้อง 2 โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 9 คน ซึ่งได้มาแบบการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ระยะที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ห้อง 1 โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม จำนวน 22 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์ข้อมูลพื้นฐานสภาพปัจจุบัน 2) แบบทดสอบความสามารถการคิดอย่างมีวิจารณญาณพื้นฐานของนักเรียน 3)แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบและคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ 4) รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียน 5) ชุดการสอนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model จำนวน 6 ชุด ชุดละ 3 ชั่วโมง 6) แบบทดสอบวัดความสามารถการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นข้อสอบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ 7) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องพอลิเมอร์ เป็นข้อสอบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ และ 8) แบบวัดความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ ที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้ t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันจากครูผู้สอน และความสามารถด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรายวิชาเคมี ยังไม่ได้รับการสนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้เรียนมีโอกาสใช้ ความคิดไตร่ตรอง เพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจในข้อมูลความรู้ด้วยการเชื่อมโยงเหตุการณ์ ที่ใช้เหตุผลสนับสนุน ให้เกิดการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในการลงข้อสรุปเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจาก กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนยังไม่เหมาะสม ขาดการใช้เหตุผลในการอธิบายความจริงและข้อโต้แย้ง ที่ถูกต้อง จึงต้องการเสริมสร้างความสามารถการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ให้กับนักเรียนชั้นดังกล่าว ในการเรียนวิชาเคมีเพิ่มขึ้น ตามแนวทางกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และเมื่อพิจารณาด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนพบว่ามีคะแนนเฉลี่ยความสามารถพื้นฐานด้านการคิด อย่างมีวิจารณญาณค่อนข้างต่ำ
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณาญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่ารูปแบบมีองค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ แนวคิดและทฤษฎีพื้นฐาน 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4) ระบบ สังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน ภายใต้หลักการกลวิธีการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Learning) 5E แนวคิด GPAS ทั้งนี้ ได้สังเคราะห์กระบวนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้น ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 ขั้นเร้าความสนใจ (Engagement Phase) ขั้นที่ 2 ขั้นสังเกต รวบรวมข้อมูล (Gathering) ขั้นที่ 3 ขั้นวิเคราะห์และสรุปความรู้ (Processing) ขั้นที่ 4 ขั้นประเมินผล (Evaluation Phase) ขั้นที่ 5 ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ (Applying) และการประเมินมุมมองความคิด โดยมีกรอบตัวชี้วัดการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบด้วย 1) ความสามารถในการนิยามปัญหา (Ability to define problems) 2)ความสามารถในการรวบรวมข้อมูล (Ability to collect data) 3) ความสามารถในการจำแนกข้อมูล (ability to classify information) 4) ความสามารถในการเลือกสมมติฐาน (Ability to choose hypotheses) 5) ความสามารถในการสรุปและตัดสินใจ (ability to draw conclusions and make decisions) ซึ่งมีผลการประเมินคุณภาพและความเหมาะสมของรูปแบบจากผู้เชี่ยวชาญอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.73
3. ผลการศึกษาการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณาญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้วิจัยพบว่า
3.1 รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยชุดการสอน มีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.03/87.39 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
3.2 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 ที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ มีผลทดสอบทักษะการคิดอย่างวิจารณญาณก่อนเรียนและหลังเรียน มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5.55 คะแนน และ 17.82 คะแนน ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคะแนนก่อนและหลังเรียน พบว่า คะแนนทดสอบการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนของนักเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.3 การทดสอบผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 19.50 คะแนน และ 34.55 คะแนน ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคะแนนก่อนและหลังเรียน พบว่า คะแนนสอบผลสัมฤทธิ์หลังเรียนของนักเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.4 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ EGPEA Model เรื่องพอลิเมอร์ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีความพึงพอใจโดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.77