บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPPI Model ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนบ้านทุ่งแขวนตามความคิดเห็นของครูผู้สอนใน 5 ด้าน คือ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) ด้านกระบวนการ (Process)
ด้านผลผลิต (Product) และด้านผลกระทบ (Impact) เพื่อศึกษานิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งแขวนและเพื่อศึกษานิสัยรักการอ่าน ตามความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียน
ประชากรที่ใช้ในการประเมินเป็นครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนบ้านทุ่งแขวน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือ ครูผู้สอน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 โรงเรียนบ้านทุ่งแขวน ปีการศึกษา 2564 จำนวน 25, 179 และ 179 คน ตามลำดับ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เป็นแบบประเมิน จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบประเมินความคิดเห็นของครูผู้สอนที่มีต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านเกี่ยวกับความเหมาะสม/ความเพียงพอ/การปฏิบัติงาน/ความพึงพอใจ/ความคิดเห็นในโครงการ เพื่อนำไปประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน จำนวน 52 ข้อ
มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .94 ฉบับที่ 2 แบบประเมินนิสัยรักการอ่านของนักเรียน จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .83 และฉบับที่ 3 แบบประเมินนิสัยรักการอ่าน
ตามความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 10 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .71
การประเมินโครงการครั้งนี้ มีกระบวนการปฏิบัติการ ใช้แนวทางการประเมิน 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นวางแผน (Planning) ขั้นปฏิบัติ (Doing) ซึ่งในขั้นนี้ได้ประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPPI Model (Context - Input - Process - Product - Impact Model) ใน 5 ด้าน คือ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) ด้านกระบวนการ (Process) ด้านผลผลิต (Product) และด้านผลกระทบ (Impact) ขั้นตรวจสอบ (Checking) และขั้นปรับปรุงแก้ไข (Action) สถานภาพของครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งแขวน ครูผู้สอนมีประสบการณ์ทางการสอนมากกว่า 5 ปี (ร้อยละ 44.00) ประสบการณ์ทางการสอน 5 ปีหรือน้อยกว่า (ร้อยละ 56.00) มีระดับการศึกษาปริญญาตรี (ร้อยละ 84.00) สูงกว่าปริญญาตรี (ร้อยละ 16.00) และครูผู้สอนมีระดับชั้นที่สอน เป็นระดับปฐมวัย (ร้อยละ 16.00) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 (ร้อยละ 28.00) และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 (ร้อยละ 56.00) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 โรงเรียนบ้านทุ่งแขวน เป็นเพศชาย (ร้อยละ 53.08) เพศหญิง(ร้อยละ 46.91) เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (ร้อยละ 28.09) รองลงมาเป็นนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ร้อยละ 27.78) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ร้อยละ 24.38) และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ร้อยละ 19.75) ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 โรงเรียนบ้านทุ่งแขวน เพศหญิง (ร้อยละ 59.49) เพศชาย (ร้อยละ 40.51) อาชีพของผู้ปกครองมีอาชีพเกษตรกร (ร้อยละ 49.37) รองลงมา มีอาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 35.44) มีอาชีพธุรกิจส่วนตัว (ร้อยละ 6.33) และมีอาชีพอื่น ๆ (ร้อยละ 2.53) ผู้ปกครองมีความสัมพันธ์กับนักเรียนเป็นพ่อ แม่ (ร้อยละ 64.56) รองลงมาเป็นญาติ (ร้อยละ 27.85) เป็นพี่ (ร้อยละ 5.06) และอื่น ๆ (ร้อยละ 2.53)
1. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนบ้านทุ่งแขวน
ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนใน 5 ด้าน พบว่า การดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.88, S.D. = 0.43) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านบริบทโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( x̄= 4.68, S.D. = 0.43) ด้านปัจจัยเบื้องต้น โดยภาพรวมมีความเพียงพออยู่ในระดับปานกลาง (x̄= 3.33, S.D. = 0.33) ด้านกระบวนการ โดยภาพรวมมีการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.54, S.D. = 0.47) ด้านผลผลิต โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ( x̄= 4.25, S.D. = 0.45) และด้านผลกระทบ โดยภาพรวม
มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ( x̄= 3.58 ,S.D. =0.49)
2. ผลการศึกษานิสัยรักการการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านทุ่งแขวน พบว่า นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี (x̄ = 4.07, S.D. = 0.61)
3. ผลการศึกษานิสัยรักการการอ่าน ตามความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียน พบว่า นิสัยรักการอ่านของนักเรียน ตามความคิดเห็นของผู้ปกครองอยู่ในระดับดีมาก ( x̄= 4.54, S.D. = 0.48)