ชื่อวิจัย การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย วลัยรัตน์ ยิ่งดำนุ่น
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนารูปแบบ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบ และ 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้ การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีขั้นตอนการวิจัย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ขั้นที่ 2 การพัฒนารูปแบบ ขั้นที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/7 โรงเรียนบางมดวิทยา สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์ แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวนนักเรียน 45 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) และขั้นที่ 4 ประเมินผลรูปแบบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แบบสนทนากลุ่ม 4) คู่มือการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต 5) แผนการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต 6) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 7) แบบประเมินทักษะชีวิตของนักเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลรูปแบบ ได้แก่ แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่า ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบความแตกต่าง ของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้สถิติที (t - test แบบ Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมพบว่า โดยรวมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีทักษะชีวิตอยู่ในระดับการปฏิบัติมาก (x̄ = 4.30, S.D. = 0.65) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนมีการปฏิบัติในระดับมากที่สุด คือ ด้านการแก้ปัญหา รองลงมาคือ ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง
ด้านการเห็นใจผู้อื่น ด้านการตัดสินใจ และการสร้างสัมพันธภาพผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครูผู้สอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
ในโรงเรียน พบว่า ครูผู้สอนส่วนใหญ่ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าทักษะชีวิตของนักเรียนด้านการตัดสินใจ นักเรียนมีการแสดงพฤติกรรมการปฏิบัติอยู่ในเกณฑ์ไม่น่าพอใจ นักเรียนมีปัญหาและสับสนในการคิดและตัดสินใจ การแสดงพฤติกรรมที่เผชิญในชีวิตประจำวัน นักเรียนขาดความมั่นใจ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำหลักธรรมที่ได้ศึกษาไปประยุกต์ใช้ นักเรียนขาดการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ขาดกระบวนการคิดอย่างต่อเนื่อง
2. ผลการพัฒนารูปแบบ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต ที่พัฒนาขึ้นมีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4) ระบบสนับสนุน 5) เงื่อนไขของการนำรูปแบบไปใช้ และ6) การประเมินผล โดยขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 ขั้น คือ ขั้นรับรู้ ขั้นฝึกคิด ขั้นนำไปปฏิบัติ ขั้นสรุปและนำไปประยุกต์ใช้ และขั้นขยายข้อคิด ผลการประเมินคุณภาพของรูปแบบ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้มีความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 100 และผลการศึกษาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ เท่ากับ 83.08/82.67 ถือว่ามีประสิทธิภาพเป็นไปเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีคะแนนการประเมินทักษะชีวิต หลังเรียนโดยรวมอยู่ในระดับดีมาก (x̄= 10.12, S.D. = 1.00) ซึ่งมีคะแนนสูงกว่าผลการประเมินระหว่างเรียน ที่อยู่ในระดับดี
(x̄= 9.02, S.D. = 0.87)
4. ผลการประเมินผลรูปแบบ พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจในระดับ พึงพอใจมากที่สุด (x̄ = 4.51, S.D. = 0.52)