ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการกิจกรรมการนิเทศการเรียนการสอน ของโรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง ปีการศึกษา 2564
ผู้ประเมิน พลวัฒน์ รุจยากรกุล ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการสถานศึกษาชำนาญการ โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี
ปีที่พิมพ์ 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทโครงการกิจกรรมการนิเทศการเรียนการสอน ของโรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง ปีการศึกษา 2564 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าโครงการกิจกรรมการนิเทศการเรียนการสอน ของโรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง ปีการศึกษา 2564 3) ประเมินกระบวนการดำเนินโครงการกิจกรรมการนิเทศการเรียนการสอน ของโรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง ปีการศึกษา 2564 4) ประเมินผลผลิตโครงการกิจกรรมการนิเทศการเรียนการสอน ของโรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง ปีการศึกษา 2564 แยกเป็น 2 ข้อ (4.1) ประเมินผลผลิตจากกระบวนการ (4.2) ประเมินความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่
ฝ่ายบริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการ ปีการศึกษา 2564 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ฝ่ายบริหาร คือ ผู้บริหาร หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ กำหนดขนาดตัวอย่างโดยใช้ประชากรฝ่ายบริหาร 12 คน โดยเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) กลุ่มที่ 2 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดขนาดตัวอย่างโดยใช้ประชากรคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 13 คน โดยเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) กลุ่มที่ 3 ครู กำหนดขนาดตัวอย่างโดยใช้ประชากรครู 114 คน โดยเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) กลุ่มที่ 4 นักเรียน กำหนดขนาดตัวอย่างโดยใช้ตารางประมาณการขนาดตังอย่างของ Taro Yamane ที่ความเชื่อมั่น 95 % ได้จำนวนตัวอย่างเท่ากับ 353 คน และเลือกตัวอย่างโดยวิธีสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) ตามสัดส่วนของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 1 ฉบับ มี 5 ตอน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x̄) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. ด้านบริบท (Context) ผลการประเมินตามความคิดเห็นของฝ่ายบริหาร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.49, S.D. = 0.71) เมื่อพิจารณา เป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ผู้บริหารเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการเป็นอย่างดี (x̄ = 4.61, S.D. = 0.79) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การจัดบรรยากาศและบริบทของโรงเรียนมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการดำเนินโครงการ (x̄ = 4.39, S.D. = 0.79)
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ผลการประเมินตามความคิดเห็นของฝ่ายบริหาร ครูในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.45, S.D. = 0.68) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ผู้บริหารเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการเป็นอย่างดี (x̄ = 4.61, S.D. = 0.79) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ มีวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และสื่อประกอบการสอนที่ใช้ในโครงการอย่างเพียงพอ (x̄ = 4.28, S.D. = 0.65)
3. ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) ผลการประเมินตามความคิดเห็นของฝ่ายบริหาร ครู ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.43, S.D. = 0.73) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ มีการสรุปและรายงาน ผลการจัดกิจกรรมในโครงการ (x̄ = 4.54, S.D. = 0.72) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ มีการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการพัฒนาก่อนจัดทำโครงการ (x̄ = 4.30, S.D. = 0.82)
4. ด้านผลผลิต (Product) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังจากการดำเนินโครงการ กิจกรรมการนิเทศการเรียนการสอน พิจารณาแยกเป็นประเด็นได้ ดังนี้
4.1 ผลการประเมินผลผลิตจากกระบวนการตามความคิดเห็นของฝ่ายบริหาร ครู นักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.09, S.D. = 0.79) แบ่งออกเป็น 3 ด้าน
(1) ด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนในภาพรวม พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.07, S.D. = 0.79) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อครูและเพื่อนนักเรียน (x̄ = 4.30, S.D. = 0.75) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ นักเรียนมีความกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจและมีการถาม ตอบคำถามในการเรียนรู้อย่างมีเหตุผล (x̄ = 3.89, S.D. = 0.89)
(2) ด้านคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนในภาพรวมพบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.07 , S.D. = 0.82) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ครูมีการติดตามนักเรียนสม่ำเสมอ ทั้งการส่งงาน การเข้าเรียนและการซ่อมเสริม (x̄ = 4.19, S.D. = 0.82) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ความเหมาะสมของภาระงาน/ชิ้นงานที่ครูมอบหมาย (x̄ = 3.83, S.D. = 0.94)
(3) ด้านประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมตามโครงการในภาพรวมพบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.16, S.D. = 0.76) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ การวางแผนการจัดกิจกรรมถูกต้อง สมบูรณ์ ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มีรายละเอียดกำหนดชัดเจนและผ่านการตรวจรับรองจากผู้บริหาร (x̄ = 4.18, S.D. = 0.76) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ จัดกิจกรรมที่หลากหลายโดยคำนึงถึงการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (x̄ = 4.12, S.D. = 0.78)
4.2 ผลการประเมินความพึงพอใจของฝ่ายบริหาร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู นักเรียน ที่มีต่อโครงการกิจกรรมการนิเทศการเรียนการสอน ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.08, S.D. = 0.81) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ การกำหนดและใช้สื่อการเรียนรู้ของครูผู้สอนแต่ละครั้ง (x̄ = 4.20, S.D. = 0.76) และประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ รูปแบบการจัดกิจกรรมน่าสนใจ มีความหลากหลาย สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ (x̄ = 4.00, S.D. = 0.85)
คำสำคัญ : การประเมินโครงการ, การนิเทศการเรียนการสอน, โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง