ชื่อเรื่อง รายงานผลการนิเทศเพื่อพัฒนาครูคณิตศาสตร์ในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring โดยใช้ชุดฝึกอบรมสำหรับครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1
ผู้ศึกษา นางสาวเบญญาภา หลวงราช
ปีที่ทำเสร็จ พ.ศ. 2565
บทคัดย่อ
รายงานผลการนิเทศเพื่อพัฒนาครูคณิตศาสตร์ในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ด้วย iSpring โดยใช้ชุดฝึกอบรมสำหรับครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างและหาคุณภาพ ชุดฝึกอบรมการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring 2) เปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจของครู ก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกอบรมการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring 3) ศึกษาความสามารถของครู ในการสร้างและใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring โดยใช้ชุดฝึกอบรมการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ด้วย iSpring 4) ศึกษาความพึงพอใจของครูต่อชุดฝึกอบรมการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring และการนิเทศ ติดตามของศึกษานิเทศก์ 5) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ 1) ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน 2) ครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ที่สมัครใจเข้ารับการอบรม 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนกับครูที่สมัครใจเข้ารับการอบรม เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) ชุดฝึกอบรมครูคณิตศาสตร์ในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring 2) แนวทางการใช้ชุดฝึกอบรมครูคณิตศาสตร์ในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring 3) แบบประเมินคุณภาพของชุดฝึกอบรม เรื่อง การสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 44 ข้อ 1 ฉบับ 4) แบบทดสอบวัดความรู้ ความเข้าใจของครู มีลักษณะเป็นแบบทดสอบชนิดเลือกตอบมี 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 1 ฉบับ 5) แบบบันทึกการนิเทศติดตามผลการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ 1 ฉบับ 6) แบบประเมินความพึงพอใจของครูที่มีต่อชุดฝึกอบรม เรื่อง การสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring และการนิเทศ ติดตามของศึกษานิเทศก์ มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ 1 ฉบับ 7) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อ การจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้น มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ จำนวน 10 ข้อ 1 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ 1) ประเมินคุณภาพของ ชุดฝึกอบรมครูคณิตศาสตร์ในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring โดยใช้ค่าเฉลี่ย (µ) และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) 2) หาค่าความยากง่าย และค่าอำนาจจำแนกของแบบทดสอบความรู้ความเข้าใจของครูในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring โดยใช้เทคนิคกลุ่มสูง กลุ่มต่ำ (เทคนิค 25%) 3) หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบของครูในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring โดยใช้ K-R 20 4) หาค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดความพึงพอใจ ด้วยวิธีการหาความคงที่ภายใน จากสูตรสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค 5) ประเมินความพึงพอใจของครูที่มีต่อชุดฝึกอบรม เรื่อง การสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring และประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูภายหลังจากการเรียนจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring ที่ได้สร้างขึ้น โดยใช้ค่าเฉลี่ย (µ) และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ)
สรุปผลการศึกษา
ผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประเมินคุณภาพชุดฝึกอบรมครูคณิตศาสตร์ในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring จากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 คน โดยประเมินโครงสร้างและกิจกรรมชุดฝึกอบรมทั้ง 5 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยที่ 1 : ความสำคัญ และการออกแบบสื่อการสอน หน่วยที่ 2 : การใช้งานโปรแกรม Photoscape หน่วยที่ 3 : การใช้งานโปรแกรม Audacity หน่วยที่4 : การใช้งาน Microsoft PowerPoint หน่วยที่ 5 : การใช้งานโปรแกรม iSpring มีความเหมาะสมผ่านเกณฑ์ การประเมินจากผู้เชี่ยวชาญทุกข้อรายการประเมิน
2. ผลการเปรียบเทียบความรู้ ความเข้าใจเรื่องการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring ก่อน และหลังการใช้ชุดฝึกอบรม พบว่า คะแนนเฉลี่ยจากการทำแบบทดสอบก่อนเรียน เท่ากับ 13.57 คะแนน และมีคะแนนหลังเรียน เท่ากับ 24.17 คะแนน โดยมีคะแนนการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าคะแนนการทดสอบก่อนเรียนเพิ่มขึ้น 10.60 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 78.11
3. ผลการพัฒนาความสามารถของครูในการสร้างและใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring โดยใช้ชุดฝึกอบรม พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.35 เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่ารายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ จัดเตรียมสื่อ วัสดุ และอุปกรณ์ประกอบการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ส่วนรายการที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ วัดและประเมินผลตามสภาพจริง ด้วยวิธีการและเครื่องมือที่หลากหลาย มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.07
4. ผลการประเมินความพึงพอใจของครูที่มีต่อชุดฝึกอบรมครูคณิตศาสตร์ในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring และการนิเทศ ติดตามของศึกษานิเทศก์ สำหรับความพึงพอใจที่มีต่อ ชุดฝึกอบรมครูคณิตศาสตร์ในการการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.36 โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ชุดฝึกอบรมเล่มนี้มีการเรียบเรียงเนื้อหาที่เป็นขั้นตอน ชุดฝึกอบรมเล่มนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงในปัจจุบัน ชุดฝึกอบรมเล่มนี้มีการนำเสนอด้วยการใช้ภาษาที่ง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจ โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.53 4.50 และ 4.47 ตามลำดับ สำหรับความพึงพอใจต่อการนิเทศ ติดตามของศึกษานิเทศก์ พบว่า ผลการประเมินความพึงพอใจของครูที่มีต่อการนิเทศ ติดตามของศึกษานิเทศก์ในภาพรวม มีความพึงพอใจมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.67 เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า รายการที่มีความพึงพอใจมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ บุคลิกภาพ และมนุษยสัมพันธ์ในการปฏิบัติงานนิเทศ การส่งเสริม สนับสนุนให้กำลังใจ ยกย่องให้เกียรติแก่ผู้รับบริการ และการให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ และแก้ปัญหาในด้านการศึกษา มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.97 4.87 และ 4.83 ตามลำดับ
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูคณิตศาสตร์ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring พบว่า มีความพึงพอใจในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.81 โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นักเรียนรู้สึกชอบและสนุก เมื่อได้เรียนด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring การเรียนด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring ทำให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น นักเรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้จากสื่อ อิเล็กทรอนิกส์ด้วย iSpring ที่ครูนำมาใช้สอน และครูใช้สื่อได้ตรงตามเนื้อหาที่สอนได้อย่างเหมาะสม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.95 2.89 และ 2.93 ตามลำดับ