ชื่อรายงาน รายงานผลการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนอนุบาลปัตตานี
ผู้รายงาน นางหาดีบะห์ ยิงทา ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
ปีที่รายงาน 2565
บทคัดย่อ
การใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์ใน
การศึกษา ดังนี้ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวระหว่างก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนอนุบาลปัตตานี จังหวัดปัตตานี จำนวน 32 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ (1) แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (2) แผนการจัดการเรียนรู้ (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พบว่า
1.แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 95.60/92.50 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่ตั้งไว้
2.ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พบว่า หลังเรียน (ร้อยละ 92.50) สูงกว่าก่อนเรียน (ร้อยละ 65.31) แสดงได้ว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนสูงขึ้นหลังการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว
3.นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.85 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.36