ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนวัดหัวคู้
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2
ผู้รายงาน นางสาวอรวรรณ เปรมบำรุง
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนวัดหัวคู้ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังดำเนินงานโครงการนิเทศภายในโรงเรียนวัดหัวคู้ ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย ครูผู้สอนจำนวน 20 คน นักเรียนจำนวน 324 คน ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 324 คน ในปีการศึกษา 2564 รวมทั้งสิ้น 668 คน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอนจำนวน 20 คน นักเรียนจำนวน 124 คน ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 124 คน ในปีการศึกษา 2564 รวมทั้งสิ้น 268 คน ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่าง ครูผู้สอน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ตามหลักของเหตุผลประกอบโดยให้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้มาจาก การกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างกรณีทราบขนาดของประชากร ซึ่งคำนวณโดยการใช้สูตรของ ทาโร ยามาเน่ (Yamane,1973:1088) ที่ระดับความคลาดเคลื่อน 0.05 โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการ CIPP Model เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนวัดหัวคู้ โดยมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (rating scale) 5 ระดับ จำนวน 3 ฉบับ โดยฉบับที่หนึ่งสำหรับครูผู้สอน จำนวน 40 ข้อ และฉบับที่สองสำหรับนักเรียน จำนวน 12 ข้อและผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 12 ข้อ เก็บรวบรวมโดยตรงจากครูผู้สอนและให้ครูประจำชั้นเก็บรวบรวมข้อมูลนักเรียนและผู้ปกครองส่งกลับคืน ค่าสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานโดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลสำเร็จรูป
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1.ผลการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนวัดหัวคู้ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 ในภาพรวม พบว่า มีความคิดเห็นว่าเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2.ผลการประเมินด้านบริบท โดยภาพรวม พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาประเด็นหลัก พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ข้อกฎหมาย ระเบียบที่ถือปฏิบัติและข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ นโยบายการบริหารสถานศึกษา
3.ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ในภาพรวม พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาประเด็นหลัก พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ และสถานที่และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ พื้นฐานความรู้ของนักเรียน
4.ผลการประเมินด้านกระบวนการ ในภาพรวม พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาประเด็นหลัก พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ การประเมินผลและรายงานผล และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การพัฒนาและเผยแพร่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
5.ผลการประเมินด้านผลผลิต ในภาพรวม พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ด้านผลผลิตตามความคิดเห็นของนักเรียน ข้อที่มีค่าเฉลี่ยรองลงมาคือ ด้านผลผลิตตามความคิดเห็นของครูและข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ด้านผลผลิตตามความคิดเห็นของผู้ปกครอง ซึ่งด้านผลผลิตทั้ง 3 ด้านเมื่อพิจารณาประเด็นหลัก พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพของครูและข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
6.ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเฉลี่ยทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังดำเนินงานโครงการนิเทศภายในโรงเรียนวัดหัวคู้สูงกว่าก่อนดำเนินงานโครงการนิเทศภายในโรงเรียนวัดหัวคู้