ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านศรีประชา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2
ผู้ประเมิน นายธนะเดช บุญเทียม
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านศรีประชา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
ระยอง เขต 2
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
รัฐบาลมีนโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเป็นกลยุทธ์หนึ่ง ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้น และศูนย์กลางของการพัฒนาสุขภาพอนามัยภายใต้ความตระหนักถึงความสำคัญขอลกระบวนการพัฒนาที่อาศัยความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ ระหว่างนักเรียนและครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ดังนั้น การประเมินโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) เป็นแนวทางเพื่อการประเมินความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรค์ของโครงการ กลุ่มประชากร ได้แก่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนบ้านศรีประชา ปีการศึกษา 2563 จำนวน 200 คน ได้แก่ ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม มี 4 ฉบับ และแบบสัมภาษณ์ 1 ฉบับ ได้แก่ แบบประเมินฉบับที่ 1 สำหรับครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 50 ข้อ แบบประเมินฉบับที่ 2 สำหรับผู้ปกครองนักเรียน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 40 ข้อ แบบประเมินฉบับที่ 3 สำหรับนักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 30 ข้อ และแบบประเมินฉบับที่ 4 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่ไม่เป็นกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 30 ข้อ และแบบประเมินฉบับที่ 5 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ที่ไม่เป็นกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 30 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ
1.1 ด้านสภาวะแวดล้อม ประกอบด้วยนโยบาย จุดมุ่งหมาย สภาพความต้องการ สิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกและความจำเป็น ตามความคิดเห็นของครูโรงเรียนบ้านศรีประชา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชำฆ้อ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก และนักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า ประกอบด้วย สื่อ เอกสาร วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณ และบุคลากรตามความคิดเห็นของครูโรงเรียนบ้านศรีประชา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชำฆ้อ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก และนักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก
1.3 ด้านกระบวนการ ประกอบด้วย การวางแผนการจัดการ และกิจกรรมในการดำเนินโครงการ ตามความคิดเห็นของครูโรงเรียนบ้านศรีประชา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชำฆ้อ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก และนักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก
1.4 ด้านผลลัพธ์ ประกอบด้วย ผลการดำเนินงาน การบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการตามความคิดของครูโรงเรียนบ้านศรีประชา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชำฆ้อ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก และนักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก และนักเรียนได้รับบริการ ด้านสุขภาพจากครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชำฆ้อ ส่วนใหญ่ได้รับบริการ ด้านสุขภาพ การบริการอนามัยโรงเรียน การตรวจสุขภาพ การสอนสุขศึกษาจากครู ได้รับการเฝ้าระวังและส่งเสริมโภชนาการ และทันตสาธารณสุข การออกกำลังกาย กีฬาและนันทนาการ การให้คำปรึกษา การส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนได้รับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน
2. ด้านปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ตามความคิดเห็นของครู ผู้ปกครองนักเรียน ผู้นำชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านส่วนใหญ่ มีความคิดเห็นคล้ายกัน ได้แก่ งบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนน้อยไม่เพียงพอ ขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล และโดยส่วนใหญ่ภาครัฐกำหนดนโยบายมาให้มาก มาสามารถนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติได้ครบตามกำหนด ส่วนข้อเสนอแนะโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนบ้านศรีประชา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 ควรเพิ่มงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานตามโครงการให้เพียงพอ ผู้บริหารระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โรงเรียนควรจัดกิจกรรม ที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง บ้าน โรงเรียน และชุมชนมากกว่านี้ อีกทั้งให้การสนับสนุน วัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ที่จำเป็นให้เพียงพอและมีอย่างต่อเนื่อง
กล่าวโดยสรุป การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านศรีประชา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 ดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสมควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์แก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และประชากรในชุมชนต่อไป