ผู้รายงาน นายนิวัตร วงศ์วิลัย
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียน โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในและนิเทศOnline ในการพัฒนาสมรรถนะครูโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เพื่อนำรูปแบบการสร้างและพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในและนิเทศ Online โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ไปใช้ในการพัฒนาสมรรถนะในการปฏิบัติงานของครูผู้สอนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เพื่อศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะในการปฏิบัติงานของครูผู้สอนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรีโดยใช้รูปแบบการนิเทศภายในและนิเทศ Online และเพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และสรุปเป็นแนวทางในการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี และโรงเรียน อื่น ๆ ในการศึกษาครั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะครูโดยใช้รูปแบบการนิเทศภายในและรูปแบบ Online ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานผลการศึกษา พบว่า
ตอนที่ 1 ผลการศึกษาข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ผลการศึกษาพบว่า สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งเป็นครูโรงเรียนเบญจม ราชูทิศ ราชบุรี ที่เกี่ยวข้องกับการนำระบบการนิเทศภายในและรูปแบบ Online ที่พัฒนาขึ้นมาใช้ ในการดำเนินงานของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี พบว่า เป็นเพศหญิง ร้อยละ 82.9 เพศชาย ร้อยละ 17.1 ส่วนใหญ่มีอายุ ตั้งแต่ 46 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 35.7 มีอายุอยู่ระหว่าง 36 - 45 ปี คิดเป็นร้อยละ 38.6 อายุระหว่าง 25 35 ปี คิดเป็นร้อยละ 24.3 และอายุต่ำกว่า 25 ปี คิดเป็นร้อยละ 1.4 ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 65.7 และมีระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 34.3 และมีอายุราชการในการปฏิบัติหน้าที่ครู ในโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 81.5 และต่ำกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 18.6
ตอนที่ 2 ผลการศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะครูโดยใช้รูปแบบการนิเทศภายในและรูปแบบ Online ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี
พบว่า โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี มีการดำเนินกิจกรรมภาพรวม ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณากิจกรรมเป็นรายด้าน พบว่า มีการดำเนินกิจกรรมในระดับมากที่สุด จำนวนทั้งสิ้น 16 ด้าน โดยการพัฒนาสมรรถนะของครู ด้านที่ 11 ด้านจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู (Teachers Ethics and Integrity) มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าด้านอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาสมรรถนะของครูด้านจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู (Teachers Ethics and Integrity) มีการดำเนินการได้ดีกว่าด้านอื่น ๆ รองลงมา คือ สมรรถนะด้านการบริการที่ดี (Service Mind) และลำดับที่สามได้แก่ สมรรถนะ ด้านการพัฒนาผู้เรียน (Student Development) และด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน (Classroom Management) ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านงานบริหารบุคคล เรียงตามลำดับ
ตอนที่ 3 ผลการศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะครูโดยใช้รูปแบบการนิเทศภายในและรูปแบบ Online ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรีนำเสนอในรูปแบบการบรรยายเชิงพรรณนา
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะครู โดยใช้รูปแบบการนิเทศภายในและรูปแบบ Online ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เป็นคำถามแบบปลายเปิด ในประเด็นคำถาม 4 ด้าน ซึ่งมีความหลากหลายและแตกต่างกันออกไป ผลการศึกษา พบว่า
ด้านที่ 1 ด้านการเตรียมความพร้อมของครู/การค้นคว้าหาความรู้ในการจัดการเรียน การสอนออนไลน์
ด้านการเตรียมความพร้อมของครูและการค้นคว้าหาความรู้ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ พบว่า ครูมีการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการใหม่ๆ ที่เร้าความสนใจของผู้เรียน เช่น เกม หรือตัวโปรแกรมต่างๆ ใช้สื่อและเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย มีวิธีการสอนที่หลากหลาย ศึกษาค้นคว้าเนื้อหา จัดแผนการจัดการเรียนรู้ อบรมเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ มีการพัฒนาสื่อการสอน ปรับรูปแบบ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และภาระงานให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ สอดแทรกเกมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทบทวน บทเรียน หาความรู้ใหม่ ๆ ที่ทันเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ เข้ารับการอบรมการใช้เทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ มีการยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนที่ไม่พร้อม เช่น โดยการอัดเป็นคลิปวิดิโอการจัดการเรียนการสอนในแต่ละคาบเรียน ไว้ให้นักเรียนได้ศึกษาภายหลังได้
ด้านที่ 2 ด้านการเตรียมความพร้อมของนักเรียนในการเรียนออนไลน์
ด้านการเตรียมความพร้อมของนักเรียนในการเรียนออนไลน์ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ มีความพร้อมด้านการเรียนออนไลน์ เช่น อุปกรณ์การเรียน โดยโรงเรียนมีการสำรวจความพร้อม ในด้านอุปกรณ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต สภาพความพร้อมของครอบครัว สภาพตัวบุคคลของนักเรียน ทั้งทางด้านอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนแต่ละคน และสนับสนุนจัดหาให้นักเรียนมีความพร้อมเท่าเทียมกัน เช่น สนับสนุนด้านเทคโนโลยี สื่อการเรียนรู้ เครื่องมือในการใช้ในการเรียนรู้ ซิมการ์ด ทำให้นักเรียนมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และเครื่องมือที่จะใช้ใน การเรียนอย่างเท่าเทียมกัน นักเรียนสามารถปรับตัว เข้าใจสถานการณ์ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ในการเรียนออนไลน์ มีความกระตือรือร้นในด้านการเรียน มีความรับผิดชอบ มีวินัย
ด้านที่ 3 ด้านการบริหารจัดการของโรงเรียนในการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนและการนิเทศการสอนรูปแบบออนไลน์
ด้านการบริหารจัดการของโรงเรียนในการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนและการนิเทศการสอนรูปแบบออนไลน์ พบว่า โรงเรียนมีการบริหารจัดการระบบการนิเทศการสอนภายใน นิเทศการสอนอออนไลน์ โดยมอบหมายให้ฝ่ายบริหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ
เข้านิเทศการสอนออนไลน์ อย่างน้อยภาคเรียนละ 2 ครั้งขึ้นไป มีการแบ่งช่วงของเวลาในการนิเทศการสอน พร้อมทั้งชี้แนะการสอน มีการจัดตารางกำหนดการในการนิเทศการสอน และการนิเทศเป็นไปอย่างกัลยาณมิตร บริหารจัดการโดยให้ครูส่งรายงานการสอนออนไลน์แต่ละสัปดาห์และการเข้านิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน พร้อมให้คำแนะนำทำให้เข้าใจถึงสภาพปัญหา ในรูปแบบการเรียนการสอนได้อย่างดี มีการปรับปรุงระบบอินเทอร์เน็ตสื่อและอุปกรณ์ของโรงเรียนให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน จัดอบรมให้ครูได้ใช้สื่อและอุปกรณ์ ต่างๆ ในการสอนออนไลน์ การจัดทำสื่อออนไลน์ มีการนำสื่อมัลติมีเดียต่างๆ มาปรับใช้กับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ มีแหล่งข้อมูลในการสืบค้นที่หลากหลาย ส่งเสริมสนับสนุน ด้านการจัดอบรม การศึกษาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ตลอดทั้งปี จากทั้งภาครัฐและเอกชน มีการสำรวจความพร้อมของครู ในด้านอุปกรณ์การสอนออนไลน์ สนับสนุนการจัดการอบรมด้านต่างๆ เพื่อให้ครูนำมาปรับใช้จริงในห้องเรียน มีการจัดระบบเครื่องเสียงที่ฟังชัดเจนทุกห้อง และติดตั้งวัสดุอุปกรณ์พื้นฐานในแต่ละห้องเรียนเพิ่มเติมและครูทุกคนมีความรู้ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และมีความพร้อมของอุปกรณ์ ระบบอินเทอร์ภายในโรงเรียน ที่มีประสิทธิภาพ ดีเยี่ยม
ด้านที่ 4 ด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนและการนิเทศการสอนรูปแบบออนไลน์
ด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนและการนิเทศการสอนรูปแบบออนไลน์ พบว่า มีการปรับปรุงระบบสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้พร้อมสำหรับการใช้ในการจัดการเรียนการสอนรวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความพร้อม การบริหารจัดการโดยการนำรูปแบบการนิเทศภายในและรูปแบบ Online มาใช้ถือเป็นรูปแบบที่ดีในการนิเทศการสอน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมีมาตรฐานในการนิเทศเดียวกัน ยึดแนวปฏิบัติเดียวกัน และนำผลการประเมิน มาปรับปรุง แก้ไข ในรายกรณีทำให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง ส่วนผู้นิเทศก็เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจศาสตร์ เข้าใจกระบวนการของแต่ละวิชา และเทคนิคของครูผู้สอนแต่ละคน สุดท้ายแล้วผู้เรียนและผู้สอนบรรลุตัวชี้วัดหรือผลการเรียนรู้ของการจัดการเรียนการสอนครั้งนั้นๆ เป็นไปตามกระบวนการของศาสตร์ วิชานั้น ๆ และมีการเตรียมความพร้อมและแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการนิเทศตามคาบสอบ ทุกภาคเรียน มีการแบ่งกลุ่มการนิเทศตามกลุ่มสาระเพื่อดูแนวทางการจัดการเรียนการสอน มีการประชุมชี้แจงก่อนดำเนินการ ผู้นิเทศมีความรู้ในกระบวนการเรียนการสอน มีความรู้ในกลุ่มสาระฯ ที่ไปนิเทศและนิเทศแบบกัลยาณมิตร ประชาธิปไตยไม่มีอคติต่อครูผู้สอน และครูผู้รับการนิเทศสามารถรับทราบผล การนิเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงการสอนต่อไป