การประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวมของโรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 มีความมุ่งหมายของการประเมินคือ เพื่อประเมินบริบทของโครงการ ( Context Evaluation) ประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ (Input Evaluation) ประเมินกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ (Process Evaluation) ประเมินผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model)
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วยครูโรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 จำนวน 24 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 จำนวน 13 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 180 คน และผู้ปกครองของนักเรียนเรียนรวม จำนวน 57 คน รวมจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 274 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ คือแบบสอบถามเพื่อประเมินโครงการ จำนวน 2 ฉบับ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.812 และ 0.857 วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. ผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวมของโรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านผลผลิต ด้านกระบวนการ ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านบริบท
1.1 ด้านบริบทของโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวมของโรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ได้แก่ สอดคล้องกับนโยบายและแผนปฏิบัติการของโรงเรียน รองลงมาคือ โรงเรียนใช้รูปแบบในการจัดโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวมที่เหมาะสมกับสภาพของโรงเรียน และมีการปฏิบัติงานถูกต้องชัดเจนส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญในการสนับสนุนโครงการ
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวมของโรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่าภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ครูมีความรู้ความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการ รองลงมาคือ การบริหารจัดการมีความเหมาะสม และงบประมาณในการจัดกิจกรรมมีความเพียงพอ ส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือครูมีจำนวนเพียงพอที่จะดำเนินโครงการ
1.3 ด้านกระบวนการของโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวมของโรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานพบว่าภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ การวางแผน แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการรองลงมาคือ มีการประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจการดำเนินงานกับทุกฝ่ายและบุคลากรมีส่วนร่วมในการประเมินผล โครงการ ส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือใช้แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี สารสนเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้
1.4 ด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวมของโรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานพบว่าภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ กิจกรรมการเรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตจริง รองลงมาคือ สถานศึกษาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม และครูสามารถออกแบบกิจกรรมและจัดกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมตอบสนองความต้องการของนักเรียนส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือมีการนำผลการประเมินผู้เรียนเฉพาะบุคคลมาวิเคราะห์สภาพปัญหาและจุดที่ต้องการพัฒนา
2. ผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวมของโรงเรียนพลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 ตามความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน ด้านผลผลิตพบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ นักเรียนสามารถเรียนรู้กิจกรรมได้ด้วยตนเองและลงมือปฏิบัติได้จริง รองลงมาคือ นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่โรงเรียนกำหนดและโรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมโครงการอย่างต่อเนื่อง ส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือนักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง จากการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม