บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี 2) เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี จำแนกตาม ระดับการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่ และประสบการณ์ในการทำงาน 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี ประชากรกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี จำนวน 53 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) และคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 48 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าดัชนีความสอดคล้องอยู่ระหว่าง 0.6-1.0 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F-test แบบ One way Analysis of Variance หรือ ANOVA) และทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffes) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์ในการประมวลผล
ผลการวิจัย พบว่า
1. ความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ตามความเห็นของ ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี โดยภาพรวมและรายด้านมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอันดับแรก คือ ด้านงานโครงการพิเศษและการบริการชุมชน รองลงมา คือ ด้านงานแนะแนวอาชีพและการจัดหางาน และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านงานปกครอง
2. ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ตามความเห็นของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี จำแนกตามระดับการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่ และประสบการณ์ในการทำงาน
2.1 ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ตามความเห็นของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี จำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่มีระดับการศึกษาต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา โดยภาพรวมไม่แตกต่างกันทางสถิติ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผู้ที่มีวุฒิศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ด้านงานโครงการพิเศษและการบริการชุมชน มากกว่าผู้ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
2.2 ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ตามความเห็นของ ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ พบว่า ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่มีตำแหน่งต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา โดยภาพรวมและรายด้านทุกด้าน ไม่แตกต่างกันทางสถิติ
2.3 ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ตามความเห็นของ ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี จำแนกตามประสบการณ์ในการทำงาน พบว่า ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่มีประสบการณ์ในการทำงานต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา โดยภาพรวมและรายด้านทุกด้าน ไม่แตกต่างกันทางสถิติ
3. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการบริหารงานกิจการนักเรียนนักศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี ค่าความถี่มากที่สุดได้แก่ ด้านกิจกรรมนักเรียนนักศึกษา ควรวางแผนการแก้กิจกรรมให้เหมาะสมและสร้างความตระหนักให้สามารถปรับพฤติกรรมนักเรียนนักศึกษาได้ ด้านงานครูที่ปรึกษา ควรมีระบบการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการออกกลางคัน ด้านงานปกครอง ควรสร้างความเข้มแข็งระบบดูแลนักเรียนนักศึกษาให้จริงจังต่อเนื่อง ด้านงานแนะแนวอาชีพและการจัดหางาน ควรมีการแนะแนวเชิงรุกในสถานศึกษาและสถานประกอบการต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนเข้าศึกษาต่อสายอาชีพ ด้านงานสวัสดิการนักเรียนนักศึกษา ควรจัดหาเครื่องมือและเวชภัณฑ์ให้พร้อมสำหรับการให้บริการแก่นักเรียนนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา และด้านงานโครงการพิเศษและการบริการชุมชน ควรมีการประชาสัมพันธ์การจัดทำโครงการบริการวิชาชีพให้บุคลากร ครู และนักเรียนนักศึกษาทราบอย่างทั่วถึง
คำสำคัญ : การบริหาร, กิจการนักเรียนนักศึกษา, ความพึงพอใจ, วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี