ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง
ผู้วิจัย นางณชาลิฏา นาโควงษ์
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง 2) ศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง 3) เปรียบเทียบทักษะทางสังคมของนักเรียนโรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุงก่อนและหลังการใช้การจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม 4) ประเมินความพึงพอใจของครูผู้สอนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง และ 5) ประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนามีรูปแบบการวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1) ครูผู้สอน จํานวน 4 คน 2) ผู้ปกครอง จํานวน 34 คน 3) นักเรียนชั้นอนุบาล จํานวน 34 คน จากโรงเรียนโรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง โดยเริ่มทำการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 รวมระยะเวลา 10 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แบบสังเกตทักษะทางสังคมสำหรับนักเรียน 2) แบบสังเกตการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมสำหรับนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิจัย ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และการทดสอบที (t-test dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง พบว่า รูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า 3PDIE มีองค์ประกอบ ดังนี้ หลักการอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของตัวแทนชุมชนและครูในการพัฒนาทักษะทางสังคมสําหรับนักเรียน โดยการจัดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม 2 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะทางสังคมด้านการช่วยเหลือ และทักษะทางสังคมด้านการแบ่งปัน โดยขั้นตอนการมีส่วนร่วมของชุมชน ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน 1) การมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และตัดสินใจ (Participation in decision making: PD) 2) การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ (Participation in implementation: PI) 3) การมีส่วนร่วมในการประเมินผล (Participation in evaluation: PE) เป็นขั้นตอนการพิจารณาผลการดําเนินการพัฒนาทักษะทางสังคมของนักเรียนร่วมกันระหว่างครูผู้สอน และผู้ปกครอง
2. ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 4.35 และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ความมุ่งหมายของรูปแบบการจัดการเรียนรู้มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย 5.00 รองลงมา คือ แนวคิดและทฤษฎีพื้นฐานที่นําไปสู่การกำหนดกรอบแนวคิดการจัดการเรียนรู้และแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากันคือ 4.80 ส่วนการเรียงลําดับขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ด้านบทบาทครูมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด 3.80
3. ผลการเปรียบเทียบทักษะทางสังคมของเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุงก่อนและหลังการใช้การจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม พบว่า นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีคะแนนเฉลี่ยทักษะทางสังคมหลังการใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมินความพึงพอใจของครูผู้สอนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง พบว่า ครูมีความพึงพอใจต่อการนํารูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ครูมีระดับความพึงพอใจ ต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้มากที่สุดทุกข้อ ซึ่งครูผู้สอนเห็นว่ารูปแบบส่งผลให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทักษะทางสังคมอย่างแท้จริง อีกทั้งรูปแบบส่งผลให้ครูและตัวแทนชุมชนเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ในส่วนของคณะครูผู้สอนเองได้รับประโยชน์คือการทํางานเป็นทีมมากขึ้น
5. ผลประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง พบว่าผู้ปกครองมีระดับความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้ตัวแทนชุมชนแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า เพราะรูปแบบส่งผลให้บุตรหลานมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นแสดงการช่วยเหลือผู้อื่นและแบ่งป็นสิ่งของต่าง ๆ ตลอดจนขนมให้กับพี่น้อง และคนในบ้านอย่างเต็มใจ อีกทั้งรูปแบบส่งผลให้ชุมชนมีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชุมชน ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับครูผู้สอน จึงมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมนี้เป็นอย่างมาก