เดินหน้าออกแบบนโยบาย หลักประกันโอกาสทางการศึกษา กับ ปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า จังหวัดน่าน ประธานชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร
26 พฤศจิกายน 2564
ไม่ทอดทิ้งโรงเรียนขนาดเล็กในถิ่นทุรกันดาร
+ ส่งเสริมครูให้มีความก้าวหน้าในชีวิต
ต่อให้เด็กมีข้าวกิน มีเสื้อผ้าใส่ ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าไม่มีโรงเรียนที่ดีหรือครูที่ดีให้กับเขา
-ใน 32 ปีของอายุราชการกับเวลา 25 ปีที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ผมมองว่าหลักประกันโอกาสที่จะช่วยให้เด็กไม่หลุดจากเส้นทางการศึกษา หรืออย่างน้อยก็เพิ่มเวลาให้เขาอยู่ในโรงเรียนได้นานขึ้น อย่างแรก เราต้องมีโรงเรียนคุณภาพที่กระจายอยู่เพียงพอในพื้นที่ที่การคมนาคมไม่สะดวก หมายถึงในเมืองที่ทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย การยุบควบรวมโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการนั้นอาจทำได้ แต่บนดอยสูง ในป่าเขาหรือเกาะห่างไกล บางทีระยะทางแค่สองกิโลเมตรจากหย่อมบ้านที่ใกล้ที่สุดไปยังโรงเรียน เด็กๆ ต้องใช้เวลาเดินเท้าไปกลับบ้าน-โรงเรียนมากกว่าสองชั่วโมง ยังไม่นับอุปสรรคจากฝน ดินถล่ม หรือภัยจากสัตว์ร้าย ซึ่งทำให้การเดินทางล่าช้าลงไปอีก แค่นี้ก็ถือว่าเป็นปัจจัยต้นแล้วที่ดึงเด็กๆ ให้หลุดไปจากโรงเรียน หรือบางคนต้องเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีโอกาสได้เข้าสู่ระบบการศึกษาด้วยซ้ำ
ปัญหาอีกประการที่เราควรหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น คือเรื่องของ ครู ทั้งจำนวนของครูต่อพื้นที่และคุณภาพชีวิตของเขา ทุกวันนี้โรงเรียนขนาดเล็กกำลังถูกบีบให้มีจำนวนครูต่อโรงเรียนลดลงเรื่อยๆ เราจึงเห็นข่าวที่ว่าครูคนหนึ่งในโรงเรียนห่างไกลเหล่านั้นเขาต้องทำหน้าที่มากกว่า 3-4 อย่าง หรือต้องเป็นให้ได้ทุกอย่าง ขยายภาพให้ชัดคือ อย่างโรงเรียนในพื้นที่สูง ด้วยการเดินทางที่ยากลำบาก จึงต้องมีการแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งห้องเรียนสาขาไว้ตามหย่อมบ้าน เป็นเหมือนกับโรงเรียนลูกข่ายเพื่อรองรับเด็กในพื้นที่ ที่เขาไม่สามารถเดินทางไปกลับทุกวัน หรือไม่อาจห่างครอบครัวมาพักนอนที่โรงเรียนได้จริงๆ อาจด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นอยู่หรือการทำมาหากินของเขา
ทีนี้ถ้าว่ากันตามกฎระเบียบขั้นตอน โรงเรียนหย่อมบ้านที่ตั้งขึ้น เราถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนแม่ ดังนั้นการบริหารจัดการบุคลากรครูของห้องเรียนหย่อมบ้านที่มีเด็กไม่ครบชั้น จำนวนไม่เกิน 10-20 คน หรือบางแห่งอาจมีถึงร้อยคนนี้ จะผูกติดกับอัตรากำลังที่ทุกโรงเรียนจะได้รับผ่านการคำนวณจากจำนวนนักเรียนและห้องเรียน เช่น เรามีนักเรียนชั้น ป.1 40 คน ในทางทฤษฎีจะนับว่าเป็นหนึ่งห้องตามโรงเรียนแม่ แต่พอเราจำเป็นต้องขยายเป็นห้องเรียนหย่อมบ้านสาขาที่สองหรือสาขาที่สาม เท่ากับในทางปฏิบัติเราจะมีนักเรียนชั้น ป.1 สามห้อง แต่ด้วยกฎระเบียบ เราจึงขอให้มีครูเพิ่มขึ้นไม่ได้
-ย้อนไปราว 17 ปีก่อน ครั้งที่ผมเป็น ผอ.โรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็กประมาณ 60 คน แห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน และมีอีกสองโรงเรียนบนเส้นทางใกล้กันในรัศมี 5 กิโลเมตร เราเคยแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการให้เด็ก ป.1-2 เรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ป.3-4 แห่งหนึ่ง และ ป.5-6 อีกแห่งหนึ่ง เพื่อถัวเฉลี่ยจำนวนครูต่อนักเรียนทั้งสามแห่งให้สัมพันธ์กัน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นโชคดีเล็กๆ ที่ระยะทางของทั้งสามโรงเรียนทำให้สามารถปรึกษาหาทางออกร่วมกันได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่ามีโรงเรียนในพื้นที่สูงหรือบนเกาะอีกไม่น้อยที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวห่างไกล จำเป็นต้องมีห้องเรียนสาขาแยกออกไป แล้วต้องเจอกับปัญหาเรื่องครูไม่พอและไม่อาจแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ผมกล่าวได้
ครูใหม่ไม่มีมา ครูคนเก่าทยอยจากไป
ที่บ้านห้วยลัวะ โรงเรียนสาขาแห่งหนึ่งของเรา (โรงเรียนบ้านสว้า) มีครูประจำ 1 คน ต่อเด็กนักเรียน 15 คน ดูเผินๆ เหมือนว่าจะพอดีกัน แต่ลึกลงไปแล้ว การทำงานลำพังที่นั่นหมายถึงครูต้องทำได้ทุกอย่าง ตื่นตั้งแต่ตี่สี่ตีห้า ลุกขึ้นเตรียมอาหารให้เด็กมากินที่โรงเรียน ดูเรื่องไฟฟ้า น้ำสะอาด ระบบสาธารณูปโภค ดูแลห้องเรียนให้พร้อมกับการเรียนทุกวัน อะไรเสียหายใช้ไม่ได้ก็ต้องจัดการด้วยตัวเอง หรือไปตามชาวบ้านมาช่วย นี่เรายังไม่พูดถึงการเตรียมเนื้อหาการสอน ตรวจการบ้าน หรือติดตามเอาใจใส่เรื่องราวรอบด้านของลูกศิษย์ ไม่ว่าจะสุขภาพ ครอบครัว อารมณ์ สังคม จิตใจ คือครูหนึ่งคนเป็นทุกสิ่งทุกอย่างแล้วให้นักเรียน ให้ระบบการศึกษา ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญ ไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเขา ครูที่พร้อมทำอย่างนี้หรือทำได้แบบนี้นับวันก็จะยิ่งค่อยๆ ลดน้อยลงทุกที
หรืออีกโรงเรียนสาขาที่ขุนน้ำจอน เราเพิ่งถูกตัดอัตรากำลังครูออกไป ซึ่งว่าตรงๆ คือ ผมในฐานะที่ต้องบริหารจัดการก็ไม่สามารถหาทางออกได้แล้ว เราเปิดห้องเรียนสาขานี้มา 11 ปี ทิ้งไม่ได้แล้ว สุดท้ายกลายเป็นว่ามีครู กศน.ท่านหนึ่งที่เขาอาสาเข้ามาช่วย ทำให้เราผ่านปัญหาได้อีกครั้ง แต่ในขณะที่ครูเขามีงานรับผิดชอบของตัวเองอยู่แล้ว ทั้งต้องแบ่งเวลาแบ่งกำลังมาช่วยเราอีก คำถามคือเราจะยื้อปัญหาไปได้นานสักเท่าไหร มันย้อนกลับมาที่ว่า ยังไงเราก็ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดที่ต้นตอให้ได้ เพื่อให้ครูทุกคนได้เอาเวลาไปทุ่มกับสิ่งที่สำคัญที่สุดจริงๆ คือการอำนวยความรู้ให้กับเด็กๆ
-ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดควรเพิ่มอัตรากำลังให้แต่ละโรงเรียนมีครูขั้นต่ำสัก 4 คน หรือมีจำนวนครูผู้ช่วยให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่ผมหยิบยกมาเล่าจากประสบการณ์ตรง มันทำให้เห็นแล้วว่าเมื่อปริมาณบุคลากรไม่สอดคล้องกับสภาพการศึกษา ภาระของครูในพื้นที่โดดเดี่ยวห่างไกลจึงทั้งหน่วงหนักและบั่นทอนกำลังใจ ไม่อาจดึงดูดจูงใจให้มีใครอยากจะไปอยู่ แต่นั่นยังไม่สะเทือนความรู้สึกผมเท่ากับความทดท้อที่เกิดขึ้นจากการทำงานของครูตัวเล็กๆ หลายต่อหลายคน ซึ่งยังพยายามทำงานของตนให้ดีทุกๆ วัน โดยใช้ หัวใจ เป็นที่ตั้ง วันเดือนปีผ่าน ผมได้เห็นครูมากมายที่มาด้วยความมุ่งมั่นต้องทยอยจากไปคนแล้วคนเล่า เพราะภาระงานที่กดทับและชีวิตการทำงานที่ไม่ได้ก้าวไปไหนเลย ขณะที่คนยังอยู่เองก็พูดได้ว่า สิ่งเดียวที่ยังคงรั้งพวกเขาเอาไว้ คือสายตาของเด็กๆ ที่มองไปที่เขาด้วยความรักและความหวัง นั่นคือสิ่งที่จรรโลงหัวใจของเขา แต่กับผู้ปกครองในพื้นที่ที่แม้เราจะพยายามเข้าไปสร้างห้องเรียนไว้ใกล้ๆ สักเท่าไรก็ตาม การที่มีครูไม่พอ มันก็ยิ่งทำให้เขาหมดความเชื่อมั่นกับคุณภาพของสถานศึกษา แล้วพอไม่เห็นประโยชน์ ก็กลายเป็นวงจรซ้ำๆ ที่เราต้องเห็นเด็กหลุดออกไปจากโรงเรียนทุกเทอม
-โรงเรียนที่มีมาตรฐานในจำนวนที่เพียงพอ กับครูคุณภาพในปริมาณที่พอเพียง จึงไม่ใช่แค่หลักประกันที่จะประคองเด็กๆ ไว้ในระบบ แต่คือสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า 8 ชั่วโมงต่อวันที่เด็กอยู่ในโรงเรียน จะเป็นเวลาที่มีคุณค่า ไม่ใช่แค่เอาเด็กมาเก็บไว้ในห้องเรียน โดยไม่สามารถจัดการศึกษาที่ดี หรือช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ในอนาคต
ถ้าคุณภาพชีวิตของครูดี คุณจะมีโรงเรียนที่ดีตามมา
-เบื้องต้นผมมองว่าเราต้องเร่งเพิ่มจำนวนครูให้สัมพันธ์กับสถานศึกษา ซึ่งอาจเป็นครูอัตราจ้างไปก่อนในช่วงแรก จากนั้นต้องมีเป้าหมายเป็นลำดับขั้นให้เขาสามารถมองเห็นเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ และสามารถมีชีวิตที่ดีได้ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ตรงไหนก็ตามในประเทศนี้
-ชีวิตของครูตำแหน่งอัตราจ้างคนหนึ่ง มีวุฒิปริญญาตรี มีใบประกอบวิชาชีพ เขาเริ่มทำงานจากเงินเดือนไม่ถึงหมื่นบาท หลายคนเลือกที่จะทำเพราะเชื่อว่างานของเขาคือการสร้างอนาคตของเด็กๆ แต่กับอนาคตของตัวเขาเองล่ะ มีหนทางใดบ้าง อย่างแรก ถ้าสอบบรรจุเป็นพนักงานราชการได้ เงินเดือนจะขยับไปที่ราวหมื่นห้า แน่นอนว่ามันทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเขาจะอดเปรียบเทียบไม่ได้เลยว่า สวัสดิการหรือสวัสดิภาพที่ได้รับจากการเป็น พนักงานราชการ กับ ข้าราชการครู นั้นช่างแตกต่าง ไหนจะมีเรื่องความก้าวหน้ามั่นคงของค่าวิทยฐานะต่างๆ มาพ่วงอีก
-ฉะนั้นในภาพใหญ่ที่ว่าด้วยเรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากจะหมายถึงคุณภาพของโรงเรียนในเมืองกับชนบทที่มีคุณภาพต่างกันแล้ว ยังมีเรื่องของคุณภาพชีวิตบุคลากรทางการศึกษาที่มีช่องว่างขนาดใหญ่อยู่มาก แล้วในอนาคตก็จะยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก ด้วยวงรอบของครูคนหนึ่ง ที่เขาบรรจุครั้งแรกในถิ่นทุรกันดาร พอพัฒนาความสามารถถึงระดับหนึ่ง ก็ไม่ลังเลที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง ผลคือครูเก่งๆ ก็ไปกระจุกกันไม่กี่ที่ ซึ่งตรงนี้เราต้องไม่ลืมว่านั่นคือสิทธิ์ของเขาที่จะทำได้ ในการพาตัวเองไปหาความก้าวหน้าในชีวิต
-ด้วยวงรอบอย่างนี้ก็ไม่แปลกที่ครูชนบทส่วนใหญ่จะไม่เก่งเท่าครูในเมือง แต่ที่ผมพูดเรื่องนี้เพราะสิ่งที่เราควรทำมาตั้งนานแล้วคือ ปรับเปลี่ยนสิ่งที่เป็นอยู่ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ครูรุ่นใหม่ได้มีแรงจูงใจ ว่าการทำงานในพื้นที่ห่างไกลก็มีหนทางก้าวหน้า แล้วพอช่ำชองเชี่ยวชาญก็ไม่จำเป็นต้องย้ายไปไหน คุณลองนึกดูว่า ถ้าเรามีครูที่คลุกคลีกับพื้นที่หนึ่งเป็นเวลามากกว่าสิบยี่สิบปี เขาจะเข้าใจพื้นที่ ข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรค และสามารถออกแบบการพัฒนาการเรียนการสอนไปได้ไกล ยิ่งกว่าแค่การศึกษาในโรงเรียน แต่มันคือการนำความรู้ประสบการณ์มาพัฒนาได้ในระดับท้องถิ่น
-เหมือนคนที่ทำอาหารเมนูซ้ำมา 20 ปี เชื่อเถอะว่ารสชาติของจานแรกที่ทำ กับจานที่เขาทำในปีที่ยี่สิบจะแตกต่างจนคุณแทบจำไม่ได้ ข้อแม้คือเราจะช่วยเขาอย่างไรให้ประคองตัวไว้ได้ จนสามารถบรรลุกับเมนูเดิมเมนูเดียวได้นานขนาดนั้น ถ้าคุณทำให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีได้ ประเทศของเราจะมีอาวุธที่พร้อมฟาดฟันกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป