ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
โรงเรียนวัดในไร่ จังหวัดระยอง
ผู้วิจัย ว่าที่เรือตรีสุรพล พิศดาร
สถานศึกษา โรงเรียนวัดในไร่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1
ปีการศึกษา 2564
การวิจัยประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) การประเมินสภาวะแวดล้อมของโครงการ 2) การประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ 3) การประเมินกระบวนการของโครงการ และ 4) การประเมินผลผลิตของโครงการ 5) การศึกษาความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อโครงการ ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 22 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ซึ่งเป็นจำนวนประชากรทั้งหมด รวม 35 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 312 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 312 คน ซึ่งการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครจซี่และมอร์แกน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบสุ่มอย่างง่ายแบบเป็นสัดส่วน ตามขนาดของประชากร ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวนนักเรียน 169 คน และผู้ปกครองนักเรียน 169 คน รวมกลุ่มตัวอย่างนักเรียนและผู้ปกครอง 338 คน รวมทั้งสิ้น 373 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถาม การประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโรงเรียนวัดในไร่ สำหรับครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง 0.24-0.66 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.83 ฉบับที่ 2 แบบสอบถามการประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโรงเรียนวัดในไร่ สำหรับครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง 0.25-0.70 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.79 ฉบับที่ 3 แบบสอบถามการประเมินกระบวนการของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโรงเรียนวัดในไร่ สำหรับครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง 0.22-0.78 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 ฉบับที่ 4 แบบสอบถามด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโรงเรียนวัดในไร่ สำหรับครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน ตามความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง 0.42-0.84 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.93 ฉบับที่ 5 แบบสอบถามด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโรงเรียนวัดในไร่ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ตามความคิดเห็นของนักเรียนมีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง 0.63-0.89 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 และฉบับที่ 6 แบบวัดความพึงพอใจของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโรงเรียนวัดในไร่ สำหรับครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง 0.62-0.88 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. การประเมินผลด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โรงเรียนวัดในไร่ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เฉลี่ยโดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ส่วนปัญหา อุปสรรค คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของโครงการจำนวนน้อยทำให้โครงการไม่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก และแผนพัฒนาโรงเรียนยังมีทิศทางหรือแนวทางไม่ชัดเจนและขาดการมี ส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน และข้อเสนอแนะ คือผู้บริหารควรมีการสร้างความรับรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนและจัดทำแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ตามโครงการที่กำหนดไว้ให้มากขึ้น ควรจัดทำโครงการให้สอดคล้องแผนพัฒนาโรงเรียนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น และควรมี การสอบถามความต้องการของนักเรียน ครู และชุมชนในการดำเนินการจัดทำโครงการ พัฒนาให้ตรงกับ
ความต้องการจำเป็นของนักเรียน ครู และชุมชน
2. การประเมินผลด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของ
ผู้เรียน โรงเรียนวัดในไร่ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เฉลี่ยโดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ส่วนปัญหา อุปสรรค คือ งบประมาณการพัฒนา แหล่งเรียนรู้ไม่เพียงพอ อาคาร สถานที่บางพื้นที่ไม่พร้อมต่อการจัดทำแหล่งเรียนรู้และบุคลากร ขาดความรู้ความเข้าใจต่อโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และข้อเสนอแนะคือควรมีการประชาสัมพันธ์ ขอระดมทรัพยากรจากห้างร้าน บริษัท และหน่วยงานอื่น ๆ โดยการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง
นักเรียน ควรจัดบุคลากรให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำขึ้นและมีการพัฒนาบุคลากรในการใช้แหล่งเรียนรู้
และผู้บริหารและครู จัดเตรียม และวางแผนการใช้อาคาร สถานที่บางพื้นที่ในการจัดทำแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน
3. การประเมินผลด้านกระบวนการของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของ
ผู้เรียน โรงเรียนวัดในไร่ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เฉลี่ยโดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ส่วนปัญหา อุปสรรค คือการประชุมวางแผนการปฏิบัติงานก่อนเริ่มปฏิบัติงาน และประชุมชี้แจงการดำเนินงานของโครงการไม่ต่อเนื่อง และขาดการวางแผนล่วงหน้าจึงทำให้การดำเนินกิจกรรมล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาของโครงการกำหนด และข้อเสนอแนะ คือควรมีการประชุมวางแผนการปฏิบัติงานก่อนเริ่มปฏิบัติงาน และประชุมชี้แจงการดำเนินงานของโครงการเป็นระยะ ควรมีการนิเทศติดตามขั้นตอนการจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโรงเรียนวัดในไร่เป็นระยะ และควรมีการปรับปรุงแก้ไขวิธีการดำเนินโครงการเมื่อพบว่าบกพร่อง
4. การประเมินผลด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โรงเรียนวัดในไร่ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานผู้ปกครองนักเรียน เฉลี่ยโดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก และการประเมินผลด้านผลผลิตตามความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เฉลี่ยโดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด
5. การประเมินผลความพึงพอใจตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน เฉลี่ยโดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก