ชื่อผลงาน : รายงานผลการประเมินโครงการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ของนักเรียนโรงเรียนวัดม่วง(สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสมทบสร้าง367)
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2
ลักษณะงาน : การประเมินโครงการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่
ผู้ประเมิน : นางวีรวรรณ เข็มทอง
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดม่วง(สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสมทบสร้าง367)
ปีการศึกษา : 2564
บทสรุปผู้บริหาร
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินบริบทของโครงการตามตัวชี้วัดความต้องการจำเป็น และความเป็นไปได้ ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการตามตัวชี้วัดบุคลากร งบประมาณและความเหมาะสม ประเมินกระบวนการดำเนินโครงการตามตัวชี้วัดร้อยละของการจัดกิจกรรมต่างๆ และระดับความเหมาะสมในการประสานและการแก้ปัญหา ประเมินผลผลิตของโครงการตามตัวชี้วัดเกี่ยวกับความรู้ของผู้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดม่วง(สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสมทบสร้าง367) รวมทั้งความพึงพอใจของนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาตามรูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ใน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้มี จำนวนทั้งสิ้น 167 คน ประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดม่วง(สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสมทบสร้าง367) ปีการศึกษา 2564 จำนวน 74 คน ผู้ปกครองนักเรียนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดม่วง(สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสมทบสร้าง367) จำนวน 74 คน ครูโรงเรียนวัดม่วง(สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสมทบสร้าง367) จำนวน 12 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน เลือกแบบเจาะจงเฉพาะผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นครูและผู้อำนวยการโรงเรียนเครื่องมือที่ใช้ประกอบ ไปด้วย แบบสอบถาม จำนวน 6 ฉบับ แบบสัมภาษณ์ จำนวน 2 ฉบับ แบบทดสอบ จำนวน 1 ฉบับ แบบสังเกต จำนวน 3 ฉบับ รวม จำนวน 12 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอ้างอิงใช้ t-Test แบบไม่อิสระ สถิติที่ใช้หาค่าความตรง ของเครื่องมือใช้สูตร IOC ใช้แอลฟา หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามและแบบทดสอบโดยใช้สูตรของครอนบาร์ค และใช้ r หาค่าความเชื่อมั่นตามสูตร KR-20 เพื่อหาค่าความยากง่ายและค่าอำนาจจำแนกของแบบทดสอบ ซึ่งผลการประเมินสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมิน โดยภาพรวม พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายประเด็น พบว่า ตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ กระบวนการ ปัจจัยนำเข้า บริบท และผลผลิต ผลการประเมินรายประเด็นและตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า มีความเหมาะสม และผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ระดับความต้องการจำเป็น และระดับความเป็นไปได้
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่ามีความเหมาะสม และผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า 1 ตัวชี้วัด มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด 2 ตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ระดับความเหมาะสมของงบประมาณ ระดับความเหมาะสมของบุคลากร และระดับความเหมาะสมของกิจกรรม
3. ผลการประเมิน ด้านกระบวนการ พบว่า มีความเหมาะสม และผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือร้อยละของกิจกรรมที่ดำเนินการ ความเหมาะสมในการประสานและการแก้ปัญหา
4. ผลการประเมิน ด้านผลผลิต พบว่า มีความเหมาะสม และผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน นักเรียนมีความรู้เรื่องมีวินัย ความมุ่งมั่นในการทำงานและมีจิตสาธารณะ หลังจากเข้าร่วมโครงการมีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด พฤติกรรมของนักเรียนเรื่องมีวินัย ความมุ่งมั่นในการทำงานและมีจิตสาธารณะ หลังจากเข้าร่วมโครงการมีพฤติกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง พบว่า มีความเหมาะสมและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ ความพึงพอใจคณะกรรมการสถานศึกษา ความพึงพอใจของครู ความพึงพอใจของผู้ปกครอง และความพึงพอใจของนักเรียน