ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน
โรงเรียนบ้านสะพังกร่าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2
ชื่อผู้ประเมิน นางสาววรัญภร ขยันคิด
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านสะพังกร่าง ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินซิป (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย ครู นักเรียน ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านสะพังกร่าง รวมทั้งสิ้น จำนวน 90 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับ และแบบประเมิน จำนวน 1 ฉบับ และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมิน
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ โดยรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก โดยเมื่อพิจารณาผลการประเมินตามตัวชี้วัด พบว่า ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์โครงการกับนโยบายทางการศึกษา ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และผลการประเมินตัวชี้วัดความสอดคล้องของความต้องการและความคาดหวังต่อโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยรวม ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาผลการประเมินของตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด 3 ตัวชี้วัด เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ย คือ ความพร้อมและความเหมาะสมของสถานที่ ความพร้อมและความเหมาะสมของรูปแบบการจัดกิจกรรม และ ความพร้อมและความเหมาะสมของบุคลากร และผลการประเมินของตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมาก 3 ตัวชี้วัดเรียงลำดับค่าเฉลี่ย คือ ความพร้อมและความเหมาะสมของระยะเวลา ความพร้อมและความเหมาะสมของสื่อและวัสดุอุปกรณ์ และความพร้อมและความเหมาะสมของงบประมาณ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และผลการประเมินของตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด 2 ตัวชี้วัด เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ย คือ ความเหมาะสมของการดำเนินงาน และความเหมาะสมของการวางแผน ส่วนผลการประเมินของตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก 2 ตัวชี้วัด เรียงลำดับตามค่าเฉลี่ย คือ ความเหมาะสมของการประเมินผล และความเหมาะสมของการปรับปรุงและพัฒนา
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการผ่านเกณฑ์การประเมิน และผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 3 ตัวชี้วัด
4.1 ผลการประเมินด้านผลการดำเนินโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยตัวชี้วัดที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมตามโครงการ รองลงมา นักเรียนมีความประพฤติด้านคุณธรรม จริยธรรมเหมาะสม และ นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อคุณธรรม จริยธรรม ส่วนตัวชี้วัดที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ นักเรียนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่โครงการสู่สาธารณชน
4.2 ผลการประเมินด้านคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับดี โดยตัวชี้วัดที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ มีความซื่อสัตย์ รองลงมา มีระเบียบวินัย มีหลักธรรมและค่านิยมแบบไทย ส่วนตัวชี้วัดที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ มีความประหยัด
4.3 ผลการประเมินด้านความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อโครงการพัฒนาคุณธรรม
จริยธรรม ของนักเรียนโรงเรียนบ้านสะพังกร่าง ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยตัวชี้วัดที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ โครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านสะพังกร่างมีประโยชน์ต่อชุมชนสังคมและประเทศชาติ รองลงมา ครูมีความรู้ความสามารถในการอบรมสั่งสอนด้านคุณธรรมจริยธรรมให้กับนักเรียน ส่วนตัวชี้วัดที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ โรงเรียน ชุมชน หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียน
จากผลการประเมินตัวชี้วัดและประเด็นการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านสะพังกร่าง ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัดและทุกประเด็นการประเมิน ทำให้ผลการประเมินโครงการโดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน