สุภาพร บุญช่วย (2563) การพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างวินัยในตนเองของนักเรียนโรงเรียน
บ้านฝ่ายท่า ตามแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มี วัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างวินัยในตนเองของนักเรียนโรงเรียนบ้านฝ่ายท่า ตามแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน 2) พัฒนารูปแบบการเสริมสร้างวินัยในตนเองของนักเรียน 3) ตรวจสอบผลการใช้รูปแบบการเสริมสร้างวินัยในตนเองของนักเรียน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และครู จำนวน 239 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นชนิดมาตรประมาณค่า 5 ระดับ โดยเป็นแบบสำรวจ จำนวน 3 ฉบับ แบบสังเกต จำนวน 1 ฉบับ และแบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และเปรียบเทียบความมีวินัยในตนเองก่อนและหลังโดยใช้ค่าที ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการสำรวจความต้องการจำเป็น ในการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างวินัยในตนเองตามแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน พบว่า ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความต้องการให้พัฒนารูปแบบการเสริมสร้างวินัยในตนเองอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างวินัยในตนเอง ตามแนวทางการดูแลช่วยเหลือ
นักเรียน ส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน ปรากฏว่า รูปแบบการเสริมสร้างวินัย มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ขั้นตอน เริ่มต้นจาก 1) ความตระหนัก 2) การบริหารจัดการ 3) การลงมือปฏิบัติ และ 4) การประเมินผล ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันเป็นวัฏจักรด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ได้รูปแบบการปฏิบัติงานที่สอดคล้อง และส่งผลร่วมกันให้เกิดการพัฒนาวินัยของนักเรียนโรงเรียนบ้านฝ่ายท่าที่มีประสิทธิผล 3 ด้าน คือ ความรับผิดชอบ การวางตนให้ถูกต้องตามกาลเทศะ และปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน ส่วนผลการตรวจสอบประสิทธิภาพของรูปแบบ พบว่า ด้านความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และด้านความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการตรวจสอบการใช้รูปแบบการเสริมสร้างวินัยในตนเอง ตามแนวทางการดูแล
ช่วยเหลือนักเรียน ส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน มีดังนี้
3.1 ผลการเปรียบเทียบวินัยของนักเรียน ด้านความรับผิดชอบ ด้านการวางตนให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ด้านปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการเสริมสร้างวินัยในตนเอง พบว่า เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้ง 3 ด้าน
3.2 ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อรูปแบบ พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด
3.3 ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครอง ที่มีต่อรูปแบบ พบว่า อยู่ในระดับมาก
3.4 ผลการศึกษาความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีต่อรูปแบบ พบว่า อยู่ในระดับมาก
3.5 ผลการศึกษาความพึงพอใจของครู ที่มีต่อรูปแบบ พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด