ชื่อการประเมิน รายงานการประเมินโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้ LINE Official Account กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
ผู้ประเมิน นายถนอม โยวัง
ระยะเวลาประเมิน ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนตุลาคม 2564
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้ LINE Official Account กศน. อำเภอดอกคำใต้ โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP ในด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต และเพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ จำนวน 414 คน ได้แก่ ครูและบุคลากร กศน. อำเภอดอกคำใต้ จำนวน 20 คน คณะกรรมการสถานศึกษา กศน. อำเภอดอกคำใต้ จำนวน 8 คน คณะกรรมการ กศน. ตำบล ในสังกัด กศน. อำเภอดอกคำใต้ จำนวน 142 คน ซึ่งได้จากการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) และการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) และนักศึกษา กศน.อำเภอดอกคำใต้ จำนวน 244 คน จำแนกตามระดับชั้นเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 37 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 87 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 120 คน ซึ่งได้จากการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) และการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถามที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น จำนวน 7 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
1. ด้านบริบท พบว่า ครูและบุคลากรมีความเห็นว่าโครงการมีความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ของสังคม ชุมชน นโยบายของรัฐและหน่วยงานอยู่ในระดับมากที่สุด ในส่วนของคณะกรรมการสถานศึกษาและคณะกรรมการ กศน. ตำบล เห็นว่า มีความสอดคล้องเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น พบว่า ครูและบุคลากรมีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยเบื้องต้นของโครงการว่ามีความพร้อมหรือความเพียงพอ ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด จำแนกตามรายด้าน พบว่า ด้านครูและบุคลากร ด้านวัสดุ อุปกรณ์และสื่อการศึกษา มีความพร้อมหรือความเพียงพออยู่ในระดับมาก ส่วนด้านงบประมาณมีความพร้อมหรือความเพียงพออยู่ในระดับมากที่สุด
3. ด้านกระบวนการ พบว่า ครูและบุคลากรมีการดำเนินงานตามกระบวนการของโครงการในด้านการบริหารจัดการ และด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ออนไลน์ผ่าน LINE Official Account อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ด้านผลผลิต พบว่า ครูและบุคลากรมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนคณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการ กศน. ตำบล และนักศึกษา มีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของโครงการอยู่ในระดับมาก
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินโครงการที่สำคัญคือ นักศึกษาโดยเฉพาะผู้สูงอายุขาดทักษะการใช้เครื่องมืออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ เช่น โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และนักศึกษาบางรายไม่มีความชำนาญในการใช้สื่อและอุปกรณ์การเรียนแบบออนไลน์ความเร็วสัญญาณอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือไม่เสถียร การเมื่อยล้าสายตาจากการใช้โทรศัพท์มือถือในการอ่านบทเรียนหรือแบบทดสอบ สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อช้า ระบบอินเทอร์เน็ตสัญญาณไม่เสถียร และปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการใช้โทรศัพท์มือถือเรียนออนไลน์ สำหรับข้อเสนอแนะคือ ควรจัดกิจกรรมวิชาการช่วยกระตุ้นความสนใจของนักศึกษาในการเรียนรู้แบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ควรเพิ่มบทเรียนรายวิชาเลือกเสรีให้ครบทุกวิชา โครงการเหมาะสมกับนักศึกษา กศน. ที่ส่วนใหญ่มีภารกิจส่วนตัวเพราะเป็นเครื่องมือช่วยคันคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมในรายวิชาต่าง ๆ และเป็นวิธีเรียนรู้ที่เหมาะสมในช่วงระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19
สรุปการประเมินการดำเนินงานโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้ LINE Official Account ครั้งนี้ โดยรวมมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น สามารถดำเนินงานโครงการต่อไปแต่มีบางประเด็นที่ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การสร้างแรงจูงใจผู้เรียนให้เรียนรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ การพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการเรียนรู้ออนไลน์หรือเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้ให้หลากหลาย