ชื่องานวิจัย รายงานการพัฒนาการเรียนรู้ตามวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) โดยใช้ชุดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง ความมหัศจรรย์บนท้องฟ้า
ชื่อผู้วิจัย นางสาวธัญวรัตม์ เลิศพันธ์
ตำแหน่ง ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนบ้านช่องกะพัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนาการเรียนรู้ตามวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) โดยใช้ชุดกิจกรรม เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ความมหัศจรรย์บนท้องฟ้า กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ 80/80 (2) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ความมหัศจรรย์บนท้องฟ้า กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (3) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เรื่อง ความมหัศจรรย์บนท้องฟ้า (4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ (5) ศึกษาความพึงพอใจของครูที่สอนด้วย ชุดกิจกรรมการเรียนรู้
กลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนบ้านช่องกะพัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 โดยปีการศึกษา 2562 จำนวน 33 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือการวิจัย 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ และชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ความมหัศจรรย์บนท้องฟ้า 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติการสอนของครู ประกอบด้วย แบบบันทึกเหตุการณ์ขณะทำการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบบันทึก การสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และแบบทดสอบย่อยหลังจากเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม การเรียนรู้แต่ละเรื่อง 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจ ของครูและนักเรียน การวิจัยนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการวิจัยทั้งหมด 3 วงจร คือ วงจรปฏิบัติการที่ 1 ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 - 6 วงจรปฏิบัติการที่ 2 ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 7 - 10 และวงจรปฏิบัติการที่ 3 ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 11 -16 โดยเมื่อสิ้นสุดในแต่ละวงจร ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสะท้อนผลการปฏิบัติเพื่อปรับปรุงชุดกิจกรรมการเรียนรู้ในวงจรปฏิบัติการต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความแตกต่างโดยการทดสอบ (ttest) คำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เรื่อง ความมหัศจรรย์บนท้องฟ้า กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.00/89.09 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เรื่อง ความมหัศจรรย์บนท้องฟ้า กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.8209 แสดงว่า ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทำให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.09
3. นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสูงกว่าเกณฑ์ 80% ที่โรงเรียนกำหนด โดยมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทุกคนเฉลี่ยร้อยละ 89.09
4. นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.79)
5. ครูที่สอนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.53)
กิตติกรรมประกาศ
รายงานการพัฒนานี้ สำเร็จได้ด้วยความกรุณาจาก นายเดชา พูลวงศ์ ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญโรงเรียนอนุบาลจันทบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 นางมนัสนันท์ เกิดเอี่ยม ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านตาเลียว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 นางพัชรี แดนไธสง ครูเชี่ยวชาญ โรงเรียนประทาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา นางสาวสุลัดดา สุริยะศร ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนราษีไศล องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ และนางสุพิชญา กะจะวงษ์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านช่องกะพัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 ที่ให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจเครื่องมือการวิจัยทุกท่าน ที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ตลอดจนให้ข้อคิด และให้กำลังใจแก่ผู้วิจัยตลอดมา
ขอขอบพระคุณผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และขอบใจนักเรียน โรงเรียนบ้านช่องกะพัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 ที่ให้ความร่วมมือในการทดลองเครื่องมือและ เก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยนี้เป็นอย่างดี
ธัญวรัตม์ เลิศพันธ์