บทที่ 1
บทนำ
1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ในโลกยุคแห่งการสื่อสารที่ไร้พรมแดน (Globalization) ในปัจจุบันภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์กลายเป็นสื่อกลางในการสื่อสารที่สำคัญ ทำให้คนเราสามารถสื่อสารกันได้ทั่วทุกมุมโลก มนุษย์เราใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและศึกษาหาความรู้ ผู้ที่สามารถใช้ทักษะทางภาษาได้ดีย่อมทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สืบเนื่องจากการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีการสอนแบบภาษาเพื่อการสื่อสารที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้ โดยเน้นที่การสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจตรงกับจุดประสงค์ที่ต้องการ มีการส่งเสริมให้มีการแสดงออกทางภาษาโดยใช้สถานการณ์ต่างๆเข้าช่วยให้มีการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ซึ่งกันและกัน การสอนแบบนี้ต้องอาศัยทักษะและองค์ประกอบของทักษะทั้ง 4 คือ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร ในการสอนภาษาทั้ง 4 ทักษะนั้น นอกจากจะทำให้ผู้เรียนสามารถใช้ทักษะทางด้าน การฟัง พูดและอ่านนั้นการเขียนได้อย่างชำนาญ เนื่องจากการเขียนก็มีความจำเป็นต่อการติดต่อข้อมูลต่างๆไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะอื่นๆ
ผู้ทำวิจัยได้รับมอบหมายรับผิดชอบงานสอนในรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ช่วงชั้นที่ 2 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที 4 ในการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้ที่ 1 ภาษาเพื่อการสื่อสารนั้น นักเรียนมีปัญหาในด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียน นักเรียนส่วนมากยังเขียนไม่ได้ หรือเขียนได้แต่ไม่รู้เรื่อง จับใจความในสิ่งที่เขียนไม่ได้ซึ่งในส่วนนี้จะเห็นข้อผิดพลาดของการใช้ภาษาได้อย่างชัดเจนที่สุด เมื่อตรวจสอบสาเหตุเพื่อหาจุดของปัญหาให้แคบลงโดยการให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการเขียน พบว่านักเรียนไม่สามารถใช้ประโยคแบบ Present Continuous Tense ได้อย่างถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดให้ได้ ผู้วิจัยจึงเห็นควรนำปัญหาดังกล่าวมาทำการศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ สามารถอธิบายเนื้อหาของบทเรียนที่กำหนดให้ได้และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและตามแนวทางพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ส่งเสริมให้ครูผู้สอนสามารถทำวิจัยเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษาได้ (มาตรา 30)
1.2 คำถามการวิจัย
พฤติกรรมของปัญหา
จากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนการสอนและตรวจผลงานการปฏิบัติงานตามที่กำหนดให้ในชั้นเรียน เรื่อง Present Continuous Tense ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่ามีนักเรียนเป็นจำนวน 10 คน ไม่สามารถทำแบบฝึกหัด Present Continuous Tense ที่กำหนดให้ได้อย่างถูกต้อง โดยมีปัญหาในการเติม ing ที่ท้ายคำกริยา
ปัญหาที่เกิดขึ้น
นักเรียนไม่สามารถเติม ing ที่ท้ายคำกริยาได้ถูกต้องตามรูปแบบคำกริยา ในรูปของประโยค Present Continuous Tense
สาเหตุของปัญหาเกิดจาก
1. นักเรียนไม่สนใจการเรียน
2. นักเรียนไม่ตั้งใจฟังครูอธิบาย
3. นักเรียนไม่ตั้งใจทำแบบฝึกหัด
4. นักเรียนไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ด้านไวยากรณ์เรื่อง Present Continuous Tense
1.3 วัตถุประสงค์การทำวิจัย
เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ประโยค Present Continuous Tense ได้ถูกต้องและสามารถใช้รูปแบบประโยคที่ครูกำหนดให้ในการเขียนหรือการสนทนาได้
1.4 สมมติฐานการวิจัย
นักเรียนทั้ง 10 คน สามารถทำแบบฝึกหัดเรื่อง Present Continuous Tense ได้ถูกต้องและสามารถใช้รูปแบบประโยคแบบ Present Continuous Tense ในทักษะต่างๆที่ครูกำหนดให้หลังจากการแก้ปัญหาในครั้งนี้
1.5 ขอบเขตของการวิจัย
การวิจัยมีรายละเอียดดังนี้
1. ประชากร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบึงคำคู ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 10 คน
2. กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้มาจากการเลือกแบบทั้งหมด คือ เด็กนักเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมด้านการใช้ประโยคแบบ Present Continuous Tense จำนวนทั้งหมด 6 คน
3. ตัวแปรที่ศึกษา คือ
3.1. ตัวแปรต้น คือ การเรียนรู้แบบการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนบวกการเสริมแรงของครู
3.2. ตัวแปรตาม คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
3.3. การวิจัยครั้งนี้ศึกษาเฉพาะเรื่องการใช้ Present Continuous Tense ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ช่วงชั้นที่ 2
4. ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย
ระยะเวลาในการดำเนินการ ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2563 - 30 ตุลาคม พ.ศ.2563
1.6 คำนิยามศัพท์เฉพาะ
นักเรียน หมายถึง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบึงคำคู ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563
แผนการจัดการเรียนรู้ หมายถึง แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง Present Continuous Tense จากหน่วยการเรียนรู้ที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
แบบฝึกหัด หมายถึง แบบฝึกหัดที่สร้างขึ้นเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้และทำแบบฝึกหัดด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดทักษะเจตคติอันพึงประสงค์ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สาระที่ 1 ภาษาเพื่อการสื่อสาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน หมายถึง คะแนนในการทำแบบทดสอบของนักเรียนหลังจากได้เรียนรู้และทำแบบฝึกในแบบฝึกหัดที่ครูจัดให้
การเสริมแรง หมายถึง การกล่าวยกย่อง ชมเชย และการเอาใจใส่เพื่อให้นักเรียนเชื่อมั่นในตนเองและมีกำลังใจในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
1.7 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. นักเรียนสามารถใช้รูปแบบประโยคแบบ Present Continuous Tense ได้
2. นักเรียนมีความสามารถด้านทักษะการเขียนที่พัฒนาขึ้นตามศักยภาพของตนเอง
3. ใช้เป็นแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาของนักเรียนในกรณีที่เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน
บทที่ 2
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย โดยมีขอบข่ายในการนำเสนอดังนี้คือ
2.1 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
2.2 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544
2.3 พฤติกรรมการสอนด้านการส่งเสริมพฤติกรรมทางการเรียน
2.1 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา
มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและศักยภาพเต็มที่
มาตรา 23 การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้
(1) ความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคมได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติและสังคมโลก รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(2) ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
(3) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา
(4) ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
(5) ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
(2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหา
(3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็นรักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
(4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้
(6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
มาตรา 25 รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินการและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬา และนันทนาการแหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ
มาตรา 26 ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา
มาตรา 27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษา ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหนังสือที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
มาตรา 28 หลักสูตรการศึกษาระดับต่างๆ รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาสำหรับบุคคลตามมาตรา 10 วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่ ต้องมีลักษณะหลากหลายทั้งนี้ให้จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมแก่วัยศักยภาพ
สาระของหลักสูตรทั้งที่เป็นวิชาการและวิชาชีพต้องมุ่งพัฒนาคนให้มีความสมดุล ทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงามและความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา นอกจากคุณลักษณะในวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้วยังมีความมุ่งหมายเฉพาะที่จะพัฒนาวิชาการ วิชาชีพชั้นสูงและการค้นคว้า วิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาสังคม
มาตรา 29 ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการรวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน
มาตรา 30 ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ระดับการศึกษา
2.2 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)
หลักการ
เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นไปตามแนวนโยบายการจัดการศึกษาของประเทศจึงกำหนดหลักการของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่
1. เป็นการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มุ่งเน้นความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล
2. เป็นการศึกษาเพื่อปวงชนที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ
4. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทางด้านสาระ เวลา และการจัดการเรียนรู้
5. เป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์
จุดหมาย
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุขและมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ จึงกำหนดจุดหมายซึ่งเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เห็นคุณค่าของตัวเอง มีวินัยในตัวเอง ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ มีคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์
2. มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเขียนและรักการค้นคว้า
3. มีความรู้อันเป็นสากล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ มีทักษะและศักยภาพในการจัดการ การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี ปรับวิธีการคิด วิธีการทำงานได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์
4. มีทักษะและกระบวนการโดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทักษะการคิด การสร้างปัญหาและทักษะในการดำเนินชีวิต
5. รักการออกกำลังกาย ดูแลตนเองให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี
6. มีประสิทธิภาพในการผลิตและการบริโภค มีค่านิยมเป็นผู้ผลิตมากกว่าเป็นผู้บริโภค
7. เข้าใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เป็นพลเมืองดี ยึดมั่นในชีวิตและการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
8. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาสิ่งแวดล้อม
9. รักประเทศชาติและท้องถิ่น มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามให้สังคม
โครงสร้าง
เพื่อให้การศึกษาเป็นไปตามหลักการ จุดมุ่งหมายมาตรฐานการเรียนรู้ที่ได้กำหนดเอาไว้ให้สถานศึกษาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีแนวปฏิบัติในการจัดหลักสูตรในการจัดสถานศึกษา จึงได้มีการกำหนดโครงสร้างของหลักสูตร ดังนี้
1. ระดับช่วงชั้น
กำหนดหลักสูตรเป็น 4 ช่วงชั้น ตามระดับการพัฒนาการของผู้เรียน
ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3
ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
2. สาระการเรียนรู้
กำหนดสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะหรือกระบวนการเรียนรู้และคุณลักษณะ หรือค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียน 8 กลุ่มดังนี้
2.1 ภาษาไทย
2.2 คณิตศาสตร์
2.3 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2.4 สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
2.5 สุขศึกษาและพลศึกษา
2.6 ศิลปะ
2.7 การงานอาชีพ
2.8 ภาษาต่างประเทศ
สาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญที่นักเรียนทุกคนต้องได้รับการเรียนรู้โดยอาจจัดเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกประกอบด้วย
- ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างพื้นฐานการคิดและเป็นกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาและวิกฤติของชาติ
กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย
- สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและภาษาต่างประเทศ เป็นสาระการ เรียนรู้เสริมสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์และสร้างศักยภาพในการคิดและการทำงานอย่างสร้างสรรค์
3. กิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน
เป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่ได้จัดให้เรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม การเข้าร่วมการปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขกับกิจกรรมที่เลือกด้วยตนเองตามความถนัดและความสนใจอย่างแท้จริง การพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่
- การพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ได้ครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม โดยอาจจัดเป็นแนวทางหนึ่งที่สนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของประเทศชาติ
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแบ่งเป็น 2 ลักษณะดังนี้ คือ
กิจกรรมแนะแนว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน เสริมสร้างทักษะทางชีวิต วุฒิภาวะทางอารมณ์ การเรียนรู้ในเชิงพหุปัญญาและการสร้างสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งครูทุกคนต้องทำหน้าที่แนะแนวให้คำปรึกษาด้านชีวิต การศึกษาต่อและการพัฒนาตนเองสู่โลกอาชีพและการมีงานทำ
กิจกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเองอย่างครบวงจร ตั้งแต่การศึกษา วิเคราะห์วางแผน ปฏิบัติตามแผน ประเมินและปรับปรุงการทำงาน โดยเน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น โครงงาน กิจกรรมตามความสนใจ ชุมนุมวิชาการ กิจกรรมสาธารณประโยชน์ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดและผู้บำเพ็ญประโยชน์
4. มาตรฐานการเรียนรู้
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดมาตรฐานตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม ที่เป็นข้อกำหนดคุณภาพของผู้เรียน ด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมของแต่ละกลุ่มเพื่อใช้เป็นจุดมุ่งหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้มีลักษณะที่พึงประสงค์ ซึ่งกำหนดเป็น 2 ลักษณะ คือ
มาตรฐานการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป็นมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละกลุ่มของสาระการเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนเรียนจบในแต่ละช่วงชั้น คือประถมศึกษา 3 และ 6 และมัธยมศึกษา 3 และ 6
5. เวลาเรียน
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดเวลาในการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียนไว้ดังนี้
ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษา 1-3 เวลาเรียนประมาณปีละ 800-1000 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยวันละ 4-5 ชั่วโมง
ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษา 4-6 เวลาเรียนประมาณปีละ 800-1000 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยวันละ 4-5 ชั่วโมง
ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษา 1-3 เวลาเรียนประมาณปีละ 1000-1200 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยวันละ 5-6 ชั่วโมง
ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษา 4-6 เวลาเรียนปีละไม่น้อยกว่า 1200 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
ทั้งนี้สถานศึกษาอาจจะจัดเวลาเรียนและกลุ่มสาระต่างๆ ได้ตามสภาพกลุ่มเป้าหมาย สำหรับการศึกษานอกระบบสามารถจัดเวลาเรียน ช่วงเวลาและช่วงชั้นได้ตามระดับการศึกษา
6. การจัดหลักสูตร
การจัดหลักสูตรให้คำนึงถึงผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตาม
- ความถนัด - ความสนใจ
- ความต้องการ - ความแตกต่างระหว่างบุคคล
7. การจัดการเรียนรู้
หลักการของการจัดการเรียนรู้สามารถแสดงเป็นแผนภูมิดังนี้
2.3 พฤติกรรมการสอนด้านการส่งเสริมพฤติกรรมทางการเรียน
การส่งเสริมพฤติกรรมทางการเรียนมีบทบาทสำคัญทางการเรียน นักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมก็จะทำงานด้วยความตั้งใจ กระฉับกระเฉง มองเห็นจุดมุ่งหมาย ครูที่สามารถทำให้การส่งเสริมพฤติกรรมทางการเรียนเกิดขึ้น ถือว่าทำงานสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ครูและนักการศึกษาได้นำเครื่องล่อชนิดต่างๆมาใช้ เครื่องล่อที่ใช้กันมากที่สุด ได้แก่
1. การให้รางวัล ซึ่งหมายถึงการให้ของเป็นสินน้ำใจหรือให้คำชมเชย ให้สิทธิบางอย่างและให้เกียรติยศเป็นพิเศษ
2. การลงโทษ มีวิธีการอยู่หลายอย่าง เช่น การเฆี่ยนตี การกักขัง การตัดสิทธิบางอย่างและการให้ทำงานเพิ่ม เป็นต้น
3. การแข่งขัน การแข่งขันใช้เป็นเครื่องล่อได้เพราะเด็กทุกคนมีความต้องการจะเป็นคนเด่นในสังคม
4. ความสำเร็จในการงาน เด็กๆทุกคนย่อมต้องการที่จะทำงานให้สำเร็จ ความรู้สึกที่ได้รับจากความสำเร็จจะสนองความต้องการทางสังคมของเด็กได้
5. ความนิยมชมชอบจากผู้อื่น เด็กทุกคนต้องการให้คนอื่นนิยมชมชอบ หรือ นับถือตนในแง่หนึ่งจะพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้เพื่อนนับถือ
สุโท เจริญสุข (2503) ได้กล่าวถึงกลวิธีต่างๆที่นำมาใช้ในการจูงใจดังนี้
1. ทำให้เกิดความสนใจ
2. ให้มีโอกาสแสดงหรือใช้สิ่งที่เรียนให้เป็นประโยชน์
3. ให้มีการเข้าใจจริง
4. ให้รู้ความก้าวหน้าของตน
5. ให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อคนอื่นและสังคม
6. เพิ่มการอยากเรียนรู้
7. ให้ความรักใคร่
8. ให้การยกย่องชมเชย
9. ไม่วิจารณ์หรือตำหนิติเตียน
10. ใช้การแข่งขัน
11. ใช้การร่วมมือ
12. ให้สิทธิพิเศษ
13. ให้ความเห็นอกเห็นใจ
14. ให้มีความรู้สึกปลอดภัย
15. ขู่ให้กลัว
16. ทำโทษ กักขัง เฆี่ยนตี
สมควร อภัยพันธ์ (2507 : 37-39) กล่าวว่า ทัศนะอันหนึ่งเกี่ยวกับการเรียนรู้คือ การยึดหลักเรื่อง การเรียนรู้เป็นผลมาจาก รางวัลหรือการทำโทษ ตาทฤษฎีนี้เชื่อว่า ถ้าการกระทำอะไรแล้วอาการตอบสนองของตนเราได้รับรางวัลเป็นการตอบแทน คนเราจะจดจำการกระทำหรือตอบสนองนั้นไว้ใช้ในโอกาสต่อไป แต่ถ้ากระทำไปแล้วได้รับโทษ คนเราจะเปลี่ยนแปลงอาการตอบสนองไปเป็นแบบอื่น ทฤษฎีดังกล่าวเป็นที่รู้กันว่าเป็นทฤษฎีของการให้แรงเสริมทางการเรียน ซึ่งก็เป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างหนึ่งขึ้นเหมือนกันแต่ทฤษฎีการให้รางวัลและการทำโทษนั้น ก็ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. การทำโทษทำให้เกิดนิสัยไม่กล้าคิดปรับปรุงแก้ไข ไม่กล้าคิดไม่กล้ากระทำอะไรแปลกๆใหม่ๆไปแล้วจะถูกลงโทษ
2. รางวัลหรือการลงโทษที่ครูนำมาใช้กับเด็กนักเรียนนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลที่ได้รับจากการกระทำอย่างอื่นๆอีกมากและมีความสำคัญอันทรงอิทธิพลต่อการกระทำในโอกาสต่อมาเป็นอันมากทีเดียว ผลที่ได้รับอื่นๆนอกเหนือไปจากรางวัลและการทำโทษของผู้นั้นมี เช่น ความประทับใจ ที่ได้ทำอะไรแล้วสำเร็จ (หรือล้มเหลว) ปฏิกิริยา อาการยินดียินร้ายในหมู่เพื่อนๆบางทีมีอิทธิพลต่อการกระทำของคนเรามากกว่ารางวัลและการลงโทษด้วยซ้ำไป
3. สิ่งที่ครูต้องการจะให้เป็นรางวัลสำหรับเด็กนักเรียนนั้น บางทีกลายเป็นสิ่งที่ทำความไม่สบายใจแก่นักเรียนและสิ่งที่ครูต้องการให้เป็นการทำโทษกลับเป็นสิ่งที่นักเรียนชอบไปก็มี
4. คำติเตียนของครูจะบอกกับนักเรียนว่าควรกระทำอย่างอื่นไม่ใช่อย่างที่ทำมา แต่หาได้ช่วยให้นักเรียนมีวิธีการที่จะหาวิธีทำที่ถูกไม่
วิตรา วสุวานิช (2516 : 88-91) ได้กล่าวถึงการชมเชยและการตำหนิว่าเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมทางการเรียนชนิดหนึ่ง การชมเชยถือว่าเป็นการให้รางวัลอย่างหนึ่งในขณะที่การตำหนินับว่าเป็นการลงโทษ
การชมเชยเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างเปิดเผย แต่การตำหนิควรจะกระทำเป็นส่วนตัว การชมเชยเด็กที่เรียนอ่อนเมื่อเขาสามารถทำงานบางอย่างได้ดี จะเป็นสิ่งที่ช่วยจูงใจและให้กำลังใจเด็กก็จะมุมานะยิ่งขึ้นแต่การตำหนิเด็กที่เรียนอ่อนนั้น ส่วนมากจะทำให้เด็กรู้สึกเกิดความท้อถอยและสร้างปมด้อยให้แก่เด็ก แต่สำหรับเด็กที่เรียนดีแล้ว ถ้าครูตำหนิในสิ่งที่เค้ามีความผิดพลาดจริงๆแล้วเด็กจะเกิดความมุมานะที่จะแก้ตัวและมีความพยายามทำได้ดียิ่งขึ้น
จากการวิจัยทางด้านการชมเชยและการตำหนิส่วนใหญ่จะได้ผลออกมาดังนี้
1. การใช้วิธีตำหนิ เพื่อที่จะจูงใจในการเรียนนั้น ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ผลเหมือนการชมเชย
2. การชมเชยและการตำหนิก็ยังดีกว่าการเพิกเฉยของครู เพราะทำให้เด็กนักเรียนมีความรู้สึกว่าครูไม่ได้มีความสนใจในตัวนักเรียนเลย ทำให้เด็กนักเรียนเกิดความน้อยใจและไม่ตั้งใจเรียน
3. การไม่รู้จักใช้คำชมเชยและคำตำหนิให้เหมาะสมกับโอกาสและบุคลิกภาพของเด็กจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
4. ครูตั้งใจให้แน่วแน่ว่า ไม่ว่าจะใช้การชมเชยหรือการตำหนิก็ดี ครูจะทำไปเพื่อความต้องการให้ลูกศิษย์ได้รับผลดีทั้งสิ้น
การให้รางวัลและการลงโทษก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมทางการเรียนชนิดหนึ่งเพราะการให้รางวัลจะช่วยให้ผู้เรียนมีกำลังใจ มีความทะเยอทะยานที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะตามหลักการเรียนรู้ของกลุ่ม (Connectionism) จะเห็นว่ามีความสำคัญมากสำหรับการควบคุมพฤติกรรม
สำหรับการลงโทษนั้น Skinner ได้ทำการทดลองต่างๆเกี่ยวกับแรงจูงใจและอิทธิพลของการลงโทษ ซึ่งเขากล่าวว่า
1. การลงโทษนั้นจะให้ได้ผลดีก็ต้องทำทันทีที่พฤติกรรมที่ไม่ต้องการเกิดขึ้น เพราะการลงโทษจะช่วยให้พฤติกรรมนั้นหยุดชะงัก หรือยับยั้งไว้ได้ แต่ถ้าทิ้งระยะไว้นานหลังจากกระทำผิดแล้วการลงโทษจะไม่มีความหมาย
2. ครูจะต้องลงโทษทุกครั้งที่มีการกระทำผิดแบบเดียวกันขึ้นไม่ควรมีข้อยกเว้นสำหรับเด็กบางประเภท เพราะจะทำให้การลงโทษนั้นไม่เป็นผล
3. ครูจะต้องทำการลงโทษด้วยเจตนาที่จะแก้ไขพฤติกรรมของเด็กจริงๆ ไม่ควรใช้อารมณ์โกรธมาเกี่ยวข้องด้วย
4. เมื่อลงโทษแล้วต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า ควรประพฤติแบบใดต่อไปจะต้องทำให้เด็กรู้และเข้าใจว่าตนมีความผิดจึงถูกลงโทษ และต้องแก้ไขความประพฤติของตนเสียจึงจะไม่ถูกลงโทษในคราวต่อไป
ใน ค.ศ. 1930 โพลแมนและฮอนซิก (อเนกกุล กรีแสง ,2517 : 150) ได้ทดลอง เรื่องการเรียนรู้ของหนูโดยแบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้อาหารเป็นแรงเสริมกำลังตลอดเวลา กลุ่มที่ สองไม่ให้แรงเริมเลย กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มทดลองในระยะ 10 วันแรกไม่ให้แรงเสริมกำลังเลยแต่จะให้แรงเสริมกำลังในวันที่ 11 ของการทดลอง ผลการเรียนรู้ของหนูทั้ง 3 กลุ่มนี้ ปรากฏผลดังนี้ หนูกลุ่มแรกซึ่งได้แรงเสริมกำลังตลอดเวลาจะเรียนรู้ดีกว่าหนูกลุ่มที่สองที่ไม่ได้รับแรงเสริมกำลังเลย ส่วนหนูกลุ่มที่สามซึ่งเป็นกลุ่มทดลองนั้น ในระยะแรกการเรียนรู้ก็เป็นไปทำนองเดียวกับหนูกลุ่มที่สอง คือ เกิดการเรียนรู้บ้างแต่เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเริ่มให้แรงเสริมกำลังในวันที่ 11 ของการทดลองก็ปรากฏว่า ในวันที่ 12 ของการทดลอง หนูกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้ได้มากเท่าๆกับหนูกลุ่มแรก ซึ่งได้รับแรงเสริมกำลังตั้งแต่การทดลอง แสดงว่าแรงเสริมกำลังมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้
ในปี ค.ศ. 1928 เอลลิออทท์ (นำทรัพย์ จันทร์หอม, 2505 : 3) ได้ทำการทดลองกับหนูเพื่อสนับสนุนว่า การเรียนรู้ต้องประกอบด้วยการจูงใจอย่างมาก เมื่อผู้เรียนมีแรงจูงใจมาก กิจกรรมต่างๆ ของ พวกเขาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความผิดพลาดต่างๆก็จะลดจำนวนความถี่และอัตราส่วนลงเมื่อเทียบกับกิจกรรมทั้งหมด ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่การเรียนรู้
จากการค้นคว้าของ แมคเคซี (Mc. Keachie, 1967 : 6-8) ในเรื่องผลของการจูงใจที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ในวิทยาลัย ได้ประเมินผลเกี่ยวกับปัจจัย 4 ประการ ในเรื่องการจูงใจของครูซึ่งได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ความเป็นกันเอง การเป็นระเบียบ และการทดสอบกับการสนองกลับ สำหรับการจูงใจที่นำไปใช้ได้นั้นปรากฏว่า มีคุณค่าต่อคะแนนของนักเรียนในวิชาจิตวิทยา
การสังเกตและวิเคราะห์พฤติกรรม จะช่วยให้ทราบประสิทธิภาพการสอนของครูพิจารณาโดยยึดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนไปตามทิศทางที่กำหนดให้เป็นเกณฑ์
การสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียนเกิดขึ้นมาจากรากฐานความคิดที่ว่า พฤติกรรมที่เกิดขึ้นสามารถรับรู้ในรูปของเหตุการณ์ที่ปรากฏต่อเนื่องกัน และเหตุการณ์ในช่วงสั้นๆจะสามารถจำแนกวิเคราะห์พฤติกรรมได้
ระเบียบวิธีสังเกตพฤติกรรมการสอนเริ่มใช้มาประมาณ 30 ปี (Gage, 1970 : 6) ในต่างประเทศได้มีการศึกษาวิจัยกันแพร่หลายมาก ระเบียบวิธีการสังเกตจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 2 Sing System และCategory System (Murray, 1970 : 3)
1. Sing System ประกอบด้วยลำดับพฤติกรรมซึ่งผู้สังเกตบันทึกพฤติกรรมที่ปรากฏโดยไม่คำนึงถึงเวลา ตัวอย่าง ได้แก่ The Florida taxonomy of cognitive Behavior (FTCB)
2. Category System เป็นระบบที่จำแนกพฤติกรรมออกเป็นประเภทใช้หมายเลขหรือสัญลักษณ์แทน บันทึกพฤติกรรมในช่วงเวลาที่จำกัด ตังอย่างได้แก่ระเบียบวิธีการสังเกตและวิเคราะห์พฤติกรรมของแฟลนเดอร์และระบบที่ปรับปรุงมาจากของแฟลนเดอร์
โทมัส (Thomas) และคณะเป็นกลุ่มแรกที่ได้ใช้วิธีสังเกตที่มีระบบแบบแผนเพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียน (Parakh, 1960 : 285) จากนั้นได้มีผู้ศึกษาต่อมาเป็นลำดับคือ แอนเดอร์สัน (Anderson)
เลวิน(Lawin) กับผู้ช่วยและวิทฮอลล์ (Withall) ผู้ศึกษาค้นคว้าเหล่านี้ได้นำสังกัปในทางจิตวิทยาสังคมมาใช้อธิบายพฤติกรรมของครู ซึ่งพฤติกรรมของครูนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อบรรยากาศในห้องเรียนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผูเรียนและทัศนคติของผู้เรียน
ในปี ค.ศ. 1960 เนค เอ แฟลนเดอร์ ได้สร้างเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์พฤติกรรมการสอนในชั้นเรียน โดยดัดแปลงมาจากเครื่องมือสำหรับบันทึกพฤติกรรมภายในชั้นเรียนของ วิทฮอลล์ (Withall) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้กล่าวถึงพฤติกรรมส่วนที่เป็นของเด็กนักเรียนเข้าไว้เลย แฟลนเดอร์ได้จัดลำดับพฤติกรรมการเรียนการสอนเสียใหม่ และเพิ่มพฤติกรรมส่วนที่เป็นของนักเรียนเข้าไปด้วยกลายเป็นพฤติกรรมของครูกับนักเรียนที่เกิดขึ้นภายในชั้นเรียนจึงเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์มาก
แฟลนเดอร์ (Flander) ได้อธิบายพฤติกรรมของครู โดยจัดประเภทเป็นพฤติกรรมทางตรง(Directness) พฤติกรรมทางอ้อม (In Directness) และพฤติกรรมยืดหยุ่น (Flexibility) และเขาได้ศึกษาลักษณะของปฏิสัมพันธ์ทางภาษาที่ครูและนักเรียนใช้ในระหว่างการเรียนการสอน ซึ่งในการศึกษาดังกล่าวเขาแบ่งพฤติกรรมที่จะสังเกตออกเป็น 10 กลุ่ม ดังนี้
1. ครูยอมรับหรือเข้าใจความรู้สึกของผู้เรียน (Accepts Feeling)
2. ครูยกย่องชมเชยหรือสนับสนุนผู้เรียน (Praises or Encourages)
3. ครูยอมรับหรือรับใช้ความคิดของผู้เรียน (Accepts or Use Idea of Student)
4. ครูเป็นผู้ถาม (Ask Questions)
5. ครูบรรยาย (Lectures)
6. ครูสั่งการหรือใช้วิธีการ (Give Directions)
7. ครูวิจารณ์และใช้ตนเองเป็นผู้ตัดสิน (Criticizes and Justifies Authority)
8. ผู้เรียนพูดหรือตอบ (Student Talk-Response)
9. ผู้เรียนเป็นผู้เริ่มต้นพูด (Student Talk-Initiation)
10. บรรยากาศในห้องเรียนเงียบหรือสับสน (Silence)
ฮอน (Hough, 1964) ได้สร้างเครื่องมือระบบ The Observational System for Instructional Analysis มี 1 กลุ่ม ได้แบ่งย่อยพฤติกรรมของครูละเอียดขึ้น เช่น การชี้ที่ผิด การวิพากวิจารณ์ การไม่ยอมรับความคิดนักเรียน
โอเบอร์ (Ober, 1971 : 38 ) ได้ปรับปรุง The Reciprecal Category System (RCS) มาจาก Categories of Interaction Analysis ของ แฟลนเดอร์ เป็นระเบียบวิธีการสังเกตประเภท Category System จำแนกพฤติกรรมของครูและนักเรียนออกเป็น 19 ประเภท โดยแบ่งออกเป็นคู่ๆ คู่หนึ่งๆเป็นพฤติกรรมอย่างเดียวกัน ใช้หมายเลขต่างกันกำกับพฤติกรรมของครูและนักเรียนรวมทั้งพฤติกรรมแทนความเงียบหรือภาวะสับสน ยุ่งยากใจ
อมิดอน และอลิซาเบท (สาคร นิปริยาย, 2516 : 62) ได้สร้างเครื่องมือศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน เรียกว่า Verbal Interaction Categories System (VICS) ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรม 5 ประเภท คือ
1. ครูพูดริเริ่ม (Teacher initiated Talk)
2. ครูตอบสนอง (Teacher response)
3. นักเรียนตอบสนอง (Pupil response)
4. นักเรียนพูดริเริ่ม (Pupil initiated response)
5. พฤติกรรมอื่นๆที่ไม่จัดใน 4 ประเภทดังกล่าว เช่น ความเงียบ
ในปี ค.ศ. 1966 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสอนแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center forResearch and Development in Teaching) เริ่มศึกษาเกี่ยวกับความสามารถทางการสอนของครูโดยใช้ The Stanford Teacher Competence Appraisal Guide เป็นเครื่องมือ โครงการนี้มีชื่อว่า Appraisal Guide Rivision ภายหลังเปลี่ยนเป็น A Taxonomy of Teaching Behavior โดยปรับปรุงเครื่องมือเพื่ออธิบายพฤติกรรมในห้องเรียนได้อย่างกว้างขวง เครื่องมือนี้ประกอบด้วยข้อความที่กล่าวถึงพฤติกรรมการสอนซึ่งสามารถจัดลำดับได้ (Ratable) หรือนับจำนวนความถี่ได้หรือทำได้ถึงสองวิธี จากการทดลองให้อาจารย์นิเทศที่มีประสบการณ์ทางวิชาครูจำนวน 18 คนเป็นผู้สังเกต ตัดสินจัดกลุ่มข้อความ 195 ข้อความ ซึ่งเลือกมาจากการสุ่มตามระดับชั้น ทุกคนมีอิสสระในการตัดสินใจ ผลปรากฏว่าอาจารย์นิเทศก์ส่วนมากจัดเป็น 15-20 กลุ่ม ต่อมาเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการสอนพยายามปรับปรุงอีกครั้งหนึ่งจนจัดเป็นกลุ่มได้ 19 กลุ่ม
คาร์ช และ เอสตราบรุค (Karch and Estrabrook, 1956) ได้ทำการวิเคราะห์อาชีพครู ผลปรากฏว่าคุณสมบัติที่ดีของครูมี 5 ด้านคือ ทางด้านความสัมพันธ์กับนักเรียน ทางด้านการสอนด้านศีลธรรมจรรยาคุณสมบัติเฉพาะตัวและลักษณะท่าทาง สำหรับในเรื่องที่เกี่ยวกับนักเรียนนั้น ครูที่ดีต้องสนใจและพยายามที่จะเข้าใจปัญหาของนักเรียน ตอบปัญหาทุกปัญหาอย่าให้เรื่องส่วนตัวมามีอิทธิพลกับทศนคติที่มีต่อนักเรียน พยายามควบคุมอารมณ์ ใจคอหนักแน่น อย่าสนใจนักเรียนเพียงคนใดคนหนึ่ง อย่าสนิทสนมกับนักเรียนมากเกินไป อย่าทำให้นักเรียนอับอาย ชมเชยนักเรียนเมื่อนักเรียนทำงานได้ผลก้าวหน้า จะต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน จะต้องตัดสินใจและลงโทษอย่างมีเหตุผล ผลการศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับของวิทที (Witty, 1947 : 662-668) เขาได้ให้นักเรียนชั้นเกรด 2-12 จำนวน 1,200 คน เรียงความเรื่อง ครูที่ได้ช่วยฉันมากที่สุด แล้วรวบรวมคุณสมบัติที่ดีไว้ว่า ครูที่ดีจะต้องมีลักษณะดังนี้ ให้ความร่วมมือ มีความกรุณาและเอาใจใส่ต่อทุกคน มีความอดทน ยุติธรรม มีความรู้รอบตัวดี มีบุคลิกภาพและมารยาทดี สนใจในปัญหาและความเดือดร้อนของนักเรียน ชมเชยยกย่องให้รางวัลนักเรียนมีความสามารถพิเศษในการสอนแต่ละวิชา
กองวิจัยทางการศึกษา กรมวิชาการ (2518) ได้วิเคราะห์พฤติกรรมของครูและนักเรียนในชั้นที่สอนวิชาภาษาอังกฤษศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้น ในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ตัวอย่างประชากรที่เป็นครู 120 คน มีนักเรียน 120 ห้องเรียน ในโรงเรียน 30 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนราษฎร 9 โรง โรงเรียนเทศบาล 10 โรง โรงเรียนประถมศึกษาสังกัดกรมสามัญศึกษา 5 โรงและโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด 6 โรง พบว่า พฤติกรรมการเรียนการสอนของครูและนักเรียนในชั้นที่มีครูวุฒิต่างๆกัน (ไม่มีวุฒิ ป. หรือ ต่ำกว่า ป.กศ. หรือ ป, ป หรือเทียบเท่า ป.กศ. สูง หรือเทียบเท่าและปริญญา) มีลักษณะการตั้งคำถามของครู การใช้อิทธิพลทางตรงของครูและการใช้เวลาพูดของครู เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เวลาพูดของนักเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
บทที่ 3
วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาตามลำดับ ดังนี้
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล
4. วิธีดำเนินการวิจัย
5. ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย
6. การวิเคราะห์ข้อมูล
3.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1. ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบึงคำคู ตำบลในบัลลังก์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563
2. กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเลือกทั้งหมด คือเด็กนักเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมด้านการเรียนทุกคน รวมทั้งสิ้น 6 คน
3.2 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
1. แบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (แบบฝึกหัด)
2. แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
3. ใบความรู้ เรื่อง Present Continuous Tense
3.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล
การวิจัยในครั้งนี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรมการตอบคำถามในชั้นเรียนและการตรวจผลงานการปฏิบัติงานที่ผู้สอนมอบหมายงานให้
3.4 วิธีดำเนินการวิจัย
ผู้วิจัยใช้เวลาว่างในช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน เวลา 12.30-13.00 น. ครั้งละ 30 นาที จำนวน 5 ครั้ง ในการแก้ปัญหาคือ
ครั้งที่ 1 นัดหมายนักเรียนที่มีปัญหาทั้ง 6 คนมาพร้อมกันแล้วชี้แจงให้ทราบถึงพฤติกรรมด้านการเรียนของนักเรียน
ครั้งที่ 2 ให้นักเรียนจดบันทึกย่อสรุปเรื่องการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense ลงสมุดและให้ทำแบบทดสอบที่ใช้ในการวิจัย
ครั้งที่ 3 ให้นักเรียนอ่านบันทึกที่จดจากนั้นนักเรียนทำแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยมีครูเสริมแรงและช่วยแก้ปัญหา
ครั้งที่ 4 ครูอธิบายเนื้อหาเพิ่มเติมจากนั้นนักเรียนทำแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยครูเสริมแรงแต่ช่วยแก้ปัญหาน้อยลง
ครั้งที่ 5 นักเรียนทำแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองจากนั้นนักเรียนแต่ละคนอธิบายสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ประโยคแบบ Present Continuous Tense และทำแบบทดสอบที่ใช้ในการวิจัย
3.5 ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย
ระยะเวลาในการดำเนินการ ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2563 - 30 ตุลาคม พ.ศ.2563 ดังมีรายละเอียดตามขั้นตอนในตารางต่อไปนี้
รายการ สิงหาคม กันยายน ตุลาคม
1 2 3 4 1 2 3 4 1 2 3 4
1. สังเกตพฤติกรรมด้านการเรียนของนักเรียน
2. ศึกษาพฤติกรรม วิเคราะห์สาเหตุและปัญหาของนักเรียน
3. การร่างแนวทางการ
วิจัย
4. ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
5. การเขียนเค้าโครงการวิจัย
6. การลงมือแก้ปัญหา
7. สรุปผล อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
8. เขียนและพิมพ์รายงานการวิจัย
3.6 การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลตามขั้นตอน ดังนี้
1. นำข้อมูลที่ได้จากการทำแบบฝึกหัด เรื่อง Present Continuous Tense ของนักเรียนมาตรวจให้คะแนน โดยตอบถูกให้ 1 คะแนน ตอบผิดให้ 0 คะแนน แล้วนำมาหาค่าทางสถิติเพื่อแปลผลคะแนนโดยใช้ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
2. นำข้อมูลที่ได้จากการทำแบบทดสอบ เรื่อง Present Continuous Tense ก่อนและหลังเรียนของนักเรียนมาตรวจให้คะแนน โดยตอบถูกให้ 1 คะแนน ตอบผิดให้ 0 คะแนน แล้วนำมาหาค่าทางสถิติเพื่อแปลผลคะแนนโดยใช้ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
3.7 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้ศึกษานำผลที่ได้จากการทดลองมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติดังนี้
1. สถิติพื้นฐานได้แก่ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
1.1 ค่าเฉลี่ย =
เมื่อ แทน คะแนนเฉลี่ย
แทน ผลรวมของคะแนนทั้งหมด
แทน จำนวนนักเรียน
(สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์, เตือนใจ เกตุษาและบุญมี พันธุ์ไทย. 2543 : 34)
1.2 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
=
เมื่อ แทน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
แทน ข้อมูลแต่ละจำนวน
แทน จำนวนนักเรียน
(สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์, เตือนใจ เกตุษาและบุญมี พันธุ์ไทย. 2543 : 57)
บทที่ 4
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
การวิจัยเรื่องการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องการใช้ Present Continuous Tense ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบึงคำคู โดยใช้แบบการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนบวกการเสริมแรงของครู ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลของการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนบวกการเสริมแรงของครู หลังจากการทำแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 นำมาวิเคราะห์แล้วนำเสนอผลการวิเคราะห์ผล ดังต่อไปนี้
ผลการดำเนินการวิจัย
จากการที่ผู้สอนได้แก้ปัญหาพฤติกรรมด้านการเรียนของนักเรียนที่ไม่สามารถใช้ประโยคแบบ Present Continuous Tense ของบทเรียนที่กำหนดให้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จำนวน 5 ครั้ง โดยใช้เวลาช่วงหลังเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน ตั้งแต่ 12.30-13.00 น. ผลปรากฏว่า
1. จากการนัดหมายให้นักเรียนมาพบเพื่อชี้แจงให้ทราบถึงพฤติกรรมด้านการเรียนของนักเรียนเองจำนวน 6 คน พบว่านักเรียนทุกคนให้ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาในครั้งนี้เป็นอย่างดี
2. ในการลงมือแก้ปัญหาครั้งนี้สามารถสรุปผลได้ดังตารางต่อไปนี้
ครั้งที่ เวลา กิจกรรม ผลการปฏิบัติ หมายเหตุ
1 12.30-13.00 นัดหมายนักเรียนที่มีปัญหาทั้ง 6 คนมาพร้อมกันแล้วชี้แจงให้ทราบถึงพฤติกรรมด้านการเรียนของตนเอง นักเรียนรับฟังและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกัน -
2 12.30-13.00 ให้นักเรียนจดบันทึกเนื้อหาเรื่องการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense ที่ครูได้สรุปสาระเนื้อหาสำคัญแล้วลงสมุดและทำแบบทดสอบที่ใช้ในการวิจัย
(แบบทดสอบก่อนเรียน) - นักเรียนทั้ง 6 คน บันทึกเนื้อหาเรื่องการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense ลงสมุดตามที่ผู้สอนมอบหมายให้เป็นอย่างดี
- นักเรียนทั้ง 6 คนไม่สามารถทำแบบทดสอบเรื่องการใช้ Present Continuous Tense ได้ เนื่องจากการแก้ปัญหาในครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 30 นาที ทำให้นักเรียนไม่สามารถจดบันทึกเนื้อหาได้หมดและครบตามเวลาผู้สอนจึงมอบหมายให้นักเรียนไปจดบันทึกต่อให้เสร็จในช่วงเวลาว่าง การทำแบบทดสอบเลื่อนเป็นตอนเย็นหลังเลิกเรียน
3 12.30-13.00 ให้นักเรียนอ่านสรุปหลักการการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense ที่ได้จดบันทึกลงสมุดให้ผู้สอนฟังและเริ่มศึกษาแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง นักเรียนทั้ง 6 คน สามารถอ่านเนื้อหาจากการจดบันทึกลงสมุดได้เป็นอย่างดี มีความตั้งใจในการทำแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองดีมาก จากการอ่านของนักเรียนให้ผู้สอน พบว่า เด็กชายบุญญฤทธิ์ ชาติวัฒนสุคนธ์ และเด็กหญิงกรกนก ตอนสันเทียะยังอ่านไม่คล่อง อ่านติดๆขัดๆ เว้นวรรคผิด
4 12.30-13.00 ผู้สอนอธิบายเพิ่มเติมจากนั้นนักเรียนทั้ง 6 คน ศึกษาแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองและทำแบบฝึกหัด นักเรียนทั้ง 6 คน สามารถทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้องโดยเด็กชายอำนาจ รักกุดเวียน และเด็กชายกันตภาส ดั้งขุนทด สามารถทำแบบทดสอบได้ถูกต้องจากทั้งหมด 10 ข้อ มี 2 คน ทำแบบทดสอบได้ 9 ข้อ มี 1 คนที่ทำแบบทดสอบได้ 8 ข้อ และมี 1 คน ที่ทำแบบทดสอบได้ 7 ข้อ จาก 10 ข้อ ซึ่งผู้สอนก็ได้ให้คำแนะนำสำหรับข้อที่นักเรียนทำไม่ถูก
5 12.30-13.00 ให้นักเรียนแต่ละคนศึกษาแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง อธิบายสรุปเนื้อหาของการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense แบบบรรยายปากเปล่าให้ผู้สอนฟัง จากนั้นทำแบบทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลที่ใช้สรุปผลการวิจัย (แบบทดสอบหลังเรียน) นักเรียนทั้ง 6 คน สามารถอธิบายเนื้อหาสรุปการใช้โครงสร้างแบบบรรยายปากเปล่ากับผู้สอนได้เป็นอย่างดีและสามารถทำแบบทดสอบได้ถูกต้องทั้งหมด ในการให้นักเรียนทั้ง 6 คนอธิบายสรุปเนื้อหาของบทเรียนแบบบรรยายปากเปล่าให้ผู้สอนฟังนั้นได้ใช้เวลาเกิน 30 นาที ซึ่งผู้สอนได้ทำการนัดแนะกับนักเรียนโดยให้นักเรียนทั้งหมดมาพบอีกครั้งหลังเลิกเรียน ซึ่งนักเรียนทั้ง 6 คนก็ยินยอมและร่วมมือเป็นอย่างดี
จากการแก้ปัญหาพฤติกรรมด้านการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense ไม่ถูกต้องของนักเรียนทั้ง 6 คน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จำนวน 5 ครั้ง ผลปรากฏว่านักเรียนทั้งหมด 6 คน สามารถอธิบายสรุปเนื้อหาเรื่องการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense ได้เป็นอย่างดีและสามารถทำแบบทดสอบหลังการศึกษาแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ถูกต้องทั้งหมด
ตาราง เปรียบเทียบพัฒนาการจากคะแนนการทดสอบด้วยแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนด้วยแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองบวกการเสริมแรงของครู
ชื่อ สกุล ก่อนศึกษาแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง หลังศึกษาแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
1. เด็กชายกันตภาส ดั้งขุนทด 4 10
2. เด็กชายต้นกล้า แถลงกัณฑ์ 3 10
3. เด็กชายเธียรวิชญ์ แฉกพิมาย 4 10
4. เด็กชายบุญญฤทธิ์ ชาติวัฒนสุคนธ์ 5 10
5.เด็กชายอำนาจ รักกุดเวียน 3 10
6.เด็กหญิงกรกนก ตอนสันเทียะ 3 10
จากตาราง จะเห็นได้ว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องการใช้ Present Continuous Tense เพิ่มขึ้นหลังจากได้เรียน โดยใช้แบบการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนบวกการเสริมแรงของครู
บทที่ 5
สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
การวิจัยเรื่องการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องการใช้ Present Continuous Tense ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบึงคำคู โดยใช้แบบการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนบวกการเสริมแรงของครู มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ประโยค Present Continuous Tense ได้ถูกต้องและสามารถใช้รูปแบบประโยคที่ครูกำหนดให้ในการเขียนหรือการสนทนา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบึงคำคู โดยใช้แบบการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนบวกการเสริมแรงของครู
กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบึงคำคู ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 6 คน โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มี 3 ประเภท คือ
1. แบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (แบบฝึกหัด)
2. แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
3. ใบความรู้ เรื่อง Present Continuous Tense
ผู้วิจัยได้สรุปผลการศึกษาเรียงตามลำดับหัวข้อดังต่อไปนี้
1. สรุปและอภิปรายผลการวิจัย
2. ข้อเสนอแนะ
5.1 สรุปและอภิปรายผลการวิจัย
จากการที่ผู้สอนได้แก้ปัญหาพฤติกรรมด้านการเรียนของนักเรียนที่ไม่สามารถใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จำนวน 5 ครั้ง โดยใช้เวลาว่างช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน ตั้งแต่เวลา 12.30-13.00น. โดยครั้งที่ 1 ได้นัดหมายนักเรียนที่มีปัญหาทั้ง 6 คน มาพร้อมกันแล้วชี้แจงให้ทราบถึงพฤติกรรมด้านการเรียนของนักเรียน ผลการปฏิบัติพบว่า นักเรียนรับฟังและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกัน ครั้งที่ 2 ให้นักเรียนจดบันทึกสรุปการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense ลงสมุดและทำแบบทดสอบก่อนเรียน ผลการปฏิบัติพบว่า นักเรียนทั้ง 6 คน จดสรุปการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense ลงสมุดตามที่ผู้สอนมอบหมายให้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากเวลาน้อยไปจึงยังทำให้ไม่สามารถจดบันทึกเนื้อหาได้หมดและครบตามเวลา ผู้สอนจึงมอบหมายให้นักเรียนไปจดบันทึกต่อในเวลาว่าง ครั้งที่ 3 ให้นักเรียนอ่านเนื้อหาของบทเรียน เรื่อง การใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense จากที่ได้จดบันทึกลงสมุดให้ผู้สอนฟังและเริ่มศึกษาแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผลการปฏิบัติพบว่า นักเรียนทั้ง 6 คน สามารถอ่านเนื้อหาของบทเรียนเรื่องการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense จากการจดบันทึกลงสมุดได้เป็นอย่างดี จะมีเพียงเด็กชายบุญญฤทธิ์ ชาติวัฒนสุคนธ์ และเด็กหญิงกรกนก ตอนสันเทียะ ยังอ่านหนังสือไม่ค่อยคล่องเท่าไรนัก อ่านติดๆขัดๆ มีการเว้นวรรคไม่ถูกต้องบ้างเล็กน้อยและนักเรียนทั้งหมดมีความตั้งใจในการศึกษาแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองได้เป็นอย่างดี ครั้งที่ 4 ผู้สอนอธิบายเนื้อหาของบทเรียนการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense และให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดหลังจากการอธิบายเนื้อหาเสร็จ ผลการปฏิบัติพบว่านักเรียนทั้ง 6 คน สามารถทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้องโดยเด็กชายอำนาจ รักกุดเวียนและเด็กชายกันตภาส ดั้งขุนทด สามารถทำแบบทดสอบได้ถูกต้องทั้งหมดจากทั้งหมด 10 ข้อ มี 2 คน ทำแบบทดสอบได้ 9 ข้อ มี 1 คนที่ทำแบบทดสอบได้ 8 ข้อ และมี 1 คน ที่ทำแบบทดสอบได้ 7 ข้อ จาก 10 ข้อ ซึ่งผู้สอนก็ได้ให้คำแนะนำสำหรับข้อที่นักเรียนทำไม่ถูกต้อง ครั้งที่ 5 ให้นักเรียนแต่ละคนอธิบายสรุปเนื้อหาการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense แบบบรรยายปากเปล่าให้ผู้สอนฟังและทำแบบทดสอบหลังเรียน ผลการปฏิบัติพบว่านักเรียนทั้ง 6 คนคือ โดยเด็กชายอำนาจ รักกุดเวียนและ เด็กชายกันตภาส ดั้งขุนทด สามารถอธิบายสรุปเนื้อหาการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense แบบบรรยายปากเปล่ากับผู้สอนเป็นอย่างดีและนักเรียนกลุ่มที่มีปัญหาทั้งหมดสามารถทำแบบทดสอบหลังเรียนได้ถูกต้องทั้งหมด
จากการแก้ปัญหาพฤติกรรมด้านการเรียนของนักเรียนทั้ง 6 คนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จำนวน 5 ครั้ง ผลปรากฏว่านักเรียนทั้ง 6 คน สามารถอธิบายสรุปเนื้อหา สรุปการใช้โครงสร้างประโยคแบบ Present Continuous Tense ได้และสามารถทำแบบทดสอบหลังเรียนได้ถูกต้องทั้งหมด
5.2 ข้อเสนอแนะ
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทุกครั้ง ควรสังเกตพฤติกรรมความไม่เข้าใจหรือความผิดพลาดและปัญหาในการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน ทุกครั้งที่นักเรียนคนใดที่มีพฤติกรรมความไม่เข้าใจ ความผิดพลาดจนเกิดปัญหาด้านการเรียน ควรมีการเสริมแรงโดยการให้กำลังใจและมีการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและทำการวิจัยเพื่อที่จะได้มีการปรับเปลี่ยนและแก้ไขพฤติกรรมปัญหาของนักเรียนให้ดีขึ้นหรือขจัดปัญหาต่างๆซึ่งสามารถนำมาใช้กับนักเรียนที่มีพฤติกรรมปัญหาการเรียนด้านอื่นๆ