บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา สภาพที่พึงประสงค์ และ ความต้องการ จำเป็นในการบริหารงานห้องสมุดมีชีวิต โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) 2) จัดทำแนวทางการบริหารงานห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต 3) ศึกษาผลการใช้แนวทางการบริหารงานห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) กลุ่มเป้าหมายในการศึกษาเป็นครูผู้สอนและนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) ปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) แบบประเมินความเหมาะสมขององค์ประกอบ 2) แบบสอบถามสภาพปัจจุบัน ปัญหา และสภาพที่พึงประสงค์ 3) แบบประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ 4) แบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต 5) แบบประเมินนิสัยรักการอ่านของผู้เรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า
1. สภาพปัจจุบันของการบริหารงานห้องสมุดโรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) โดยรวมมีระดับการปฏิบัติในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 3.20 สภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารงานห้องสมุดโรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) โดยรวมอยู่ระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.80 และทุกด้านมีความต้องการจำเป็นในการพัฒนา
2. ปัญหาของการบริหารงานห้องสมุดโรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) สรุปได้ว่า ไม่มีครูอยู่ดููแลประจำที่ห้องสมุดโดยตรง การจัดระบบงานห้องสมุดยังไม่เป็นปัจจุบันเท่าที่ควร การประชาสัมพันธ์กิจกรรมห้องสมุดมีน้อย การจัดพื้นที่ห้องสมุดยังไม่เหมาะสมและบรรยากาศไม่เอื้อต่อการอ่านและการเรียนรู้เท่าที่ควร วัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ทันสมัย ไม่เพียงพอต่อการใช้บริการ หนังสือมีจำนวนน้อย บางประเภทไม่เหมาะสำหรับเด็กในระดับอนุบาลและประถมศึกษา การจัดการเรียนรู้ การให้บริการ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านไม่หลากหลาย ไม่ต่อเนื่อง นักเรียนชั้นปฐมวัยและระดับประถมต้นไม่มีส่วนร่วมในการใช้ห้องสมุดโรงเรียน
3. แนวทางการบริหารงานห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) เป็นแนวทางการบริหารงานที่มุ่งพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย มีชีวิต มีสิ่งดีดี 5 ประการ คือ การบริหารจัดการดี, สิ่งแวดล้อมดี, ทรัพยากรสารสนเทศดี, การบริการดี และนวัตกรรมดี มีส่วนประกอบสำคัญ 6 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 หลักการของการบริหารงานห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต ส่วนที่ 2 วัตถุประสงค์ของการบริหารงานห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต ส่วนที่ 3 เป้าหมายของการบริหารงานห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต ส่วนที่ 4 องค์ประกอบของห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต ส่วนที่ 5 กระบวนการบริหารงานห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต ที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามวงจรคุณภาพ (PDCA) และบูรณาการด้วยอิทธิบาท 4 และส่วนที่ 6 การประเมินผลการบริหารงานห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต ผลการประเมินประสิทธิภาพของแนวทางการบริหารงานห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต โดยรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.86 มีความเป็นไปได้ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.78 และมีความเป็นประโยชน์ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.91
4. ห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) ในปีการศึกษา 2562 มีคุณภาพระดับ มากที่สุด เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยความสำเร็จของแต่ละด้าน ดังนี้ 1) ด้านสิ่งแวดล้อม ค่าเฉลี่ย 4.71 2) ด้านการจัดทรัพยากรสารสนเทศ ค่าเฉลี่ย 4.66 3) ด้านการบริหารจัดการ ค่าเฉลี่ย 4.62 4) ด้านนวัตกรรม ค่าเฉลี่ย 4.60 และ 5) ด้านการบริการ ค่าเฉลี่ย 4.59 และปีการศึกษา 2563 มีคุณภาพระดับมากที่สุด เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยความสำเร็จของแต่ละด้าน ดังนี้ 1) ด้านสิ่งแวดล้อม ค่าเฉลี่ย 4.83 2) ด้านการจัดทรัพยากรสารสนเทศ ค่าเฉลี่ย 4.77 3) ด้านการบริหารจัดการ ค่าเฉลี่ย 4.71 4) ด้านนวัตกรรม ค่าเฉลี่ย 4.68 และ 5) ด้านการบริการ ค่าเฉลี่ย 4.66
5. นักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2562 ร้อยละ 83.60 มีผลการประเมินนิสัยรักการอ่านอยู่ในระดับดีมาก-ยอดเยี่ยม และปีการศึกษา 2563 ร้อยละ 88.80 มีผลการประเมินนิสัยรักการอ่านอยู่ในระดับดีมาก-ยอดเยี่ยม
คำสำคัญของการศึกษา (Keywords) แนวทางการบริหารงาน, ห้องสมุด 5 ดีมีชีวิต, วงจรคุณภาพ (PDCA),
อิทธิบาท 4, นิสัยรักการอ่าน